fbpx

อันตรายของ “โรคเกาต์”

อันตรายของโรคเกาต์

         “โรคเกาต์” เป็น โรคที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริกสูงในร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ผลึกเกลือยูเรตเกิดการตกตะกอนตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของส่วนร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อ, ไต และบริเวณผิวหนัง ซึ่งเมื่อผลึกเกลือยูเรตมีการตกตะกอนตามข้อ ก็จะทำให้เกิดภาวะข้ออักเสบย่างฉับพลัน คนไข้จะมีอาการปวด, บวม, แดงร้อนที่บริเวณข้อ ถ้าผลึกเกลือยูเรตไปตกตะกอนที่บริเวณผิวหนัง ก็จะทำให้เกิดกลุ่มก้อนหรือว่าเป็นปุ่มที่บริเวณใต้ผิวหนัง ที่แพทย์เรียกกันว่าก้อนโทฟัส และถ้าผลึกเกลือยูเรตไปตกตะกอนที่ไตก็จะทำให้เกิดเป็นนิ่วหรืออาจจะทำให้ไตวายได้

สาเหตุของโรคเกาต์ มีหลายสาเหตุ ดังนี้

         สาเหตุเกิดมาจากที่ร่างกายสร้างกรดยูริกในปริมาณที่มากกว่าการขับออก กรดยูริกเป็นผลจากการสลายของสารพิวรีนที่มีอยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นสารที่สำคัญที่เป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรมที่ทางการแพทย์เรียกว่า กรดนิวคลีอิก โดยที่กรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาจากกระบวนการนี้ โดยที่ร่างกายมีเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการในการย่อยสลายของสารพิวรีนทำงานเกิดความผิดปกติ จึงทำให้เกิดเป็นกรดยูริกที่สูงตามมา

อาการของโรคเกาต์

         อาการที่สำคัญของคนที่เป็นโรคเกาต์ คือ ข้อเกิดการอักเสบอย่างเฉียบพลัน คนไข้จะมีอาการปวด, บวม และแดงร้อนตรงบริเวณที่ข้อได้อย่างชัดเจน หรือในบางรายก็อาจจะมีไข้ และมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย โดยประมาณร้อยละ 80 จะพบว่าเกิดข้ออักเสบอย่างเฉียบพลันในครั้งแรกจากเกาต์มักจะเป็นข้ออักเสบข้อเดียว และข้อที่พบได้บ่อยคือ ตรงบิเวณข้อโคนนิ้วหัวแม่โป้งเท้า, ข้อเท้า และข้อเข่า คนไข้บางคนอาจจะมีอาการปวดอย่างทรมานมาก ๆ ปวดจนไม่สามารถที่จะลงน้ำหนักตรงบริเวณข้อได้เลย หรือบางคนอาจจะถึงขั้นที่จะต้องนั่งรถเข็นมาพบแพทย์ อาการปวดจะเป็นปวดชนิดเฉียบพลัน ในช่วงระยะแรกของโรค อาการข้ออักเสบของคนไข้จะเป็นไม่บ่อยมาก อาจจะเป็นเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่ถ้าหากปล่อยให้กรดยูริกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน และไม่รับการรักษาให้ถูกต้อง จะทำให้ข้ออักเสบแบบเฉียบพลันกำเริบบ่อยขึ้น ทำให้หายช้าลง และจะเริ่มลามไปที่บริเวณข้อส่วนบนของร่างกาย เช่น ข้อนิ้วมือ, ข้อมือ และข้อศอก เป็นต้น

หรืออาจจะเกิดการข้ออักเสบขึ้นพร้อมกันหลาย ๆ ข้อได้ ทั้งนี้หากปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลานาน ๆ ก็จะทำให้เกิดการตกตะกอนของผลึกยูเรตตามบริเวณเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในช่วงแรกผลึกจะมีการสะสมในเยื่อบุตรงบริเวณข้อ และต่อมาก็จะสะสมที่บริเวณรอบ ๆ ข้อ รวมไปถึงบริเวณใต้ผิวหนัง ส่งผลทำให้เกิดกลุ่มก้อนหรือเป็นปุ่มใต้ผิวหนัง เรียกว่าก้อนโทฟัส จะพบได้บ่อยที่บริเวณนิ้วเท้า, หลังเท้า, ตาตุ่ม, เอ็นร้อยหวาย, ข้อศอก, นิ้วมือ และหลังมือ รวมไปถึงใบหู ซึ่งจะส่งผลทำให้เสียบุคลิกภาพ และบางครั้งก้อนโทฟัสเหล่านี้ก็อาจจะแตกออกมาเป็นผงคล้ายชอล์ค จะทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังตามมา นอกจากนี้ก้อนโทฟัสยังสามารถไปกัดกร่อนกระดูก ทำให้เกิดข้ออักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้ข้อของคนไข้ผิดรูปส่งผลทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพตามมา

         ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น คือ อันตรายที่เกิดจากการเป็นโรคเกาต์ และส่งผลไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเรานั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *