โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับข้ออักเสบอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยโรคจะมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงเกิดขึ้น เมื่อโรคกำเริบ เมื่อก่อนเคยมีการเรียกโรคนี้ว่า the disease of kings หรือโรคของคนกินดีอยู่ดีมากจนเกินไป กินมากไป ดื่มมากไป แต่ปัจจุบัน พบว่า มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะพันธุกรรม
มีการสำรวจพบว่า กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ มีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่การถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นไม่ได้ชัดเจนขนาดที่ว่า ถ้าพ่อแม่ป่วย ลูกหลานก็จะป่วยได้ด้วย แต่การถ่ายทอดจะเป็นไปในลักษณะที่มีการเว้นช่วงในบางรุ่น หรือบางคนได้
โรคเก๊าท์ เกิดขึ้นเพราะกรดยูริคในร่างกายมีปริมาณมากเกินไป เมื่อระดับกรดยูริคสูงเกินมาตรฐาน ก็จะมีการจับตัวกันเป็นก้อนผลึกที่แข็งและคม ก้อนผลึกนี้จะไปอยู่ตามข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความแข็งและคมเหมือนเข็มนี้ ทำให้เกิดการอักเสบและสร้างความเจ็บปวด ซึ่งผู้ป่วยจะรู้ว่า นี่คืออาการของโรคเก๊าท์กำเริบ บริเวณข้อต่อที่เกิดการอักเสบ จะตึง บวม แดง ผู้ป่วยจะปวด และแสบร้อนเหมือนถูกไฟลวก
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเก๊าท์
หากมีประวัติทางครอบครัวว่า พ่อแม่ ปู่ย่า เคยเจ็บป่วยด้วยโรคนี้มาแล้ว ยิ่งต้องระมัดระวังตัว เพราะมีโอกาสสูงที่จะป่วยด้วยโรคนี้ตามไปด้วย นอกจากเรื่องของพันธุรกรรมแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ได้แก่ เพศ อายุ โรคประจำตัว การใช้ยาบางชนิด และปัญหาสุขภาพอย่างอื่น
หลายปีมาแล้วที่เชื่อกันว่ายีน หรือพันธุกรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคเก๊าท์เป็นอย่างมาก แต่ก็มีงานวิจัยใหม่ ๆ ออกมาแสดงเพิ่มเติมอีกว่า ยังมีปัจจัยเรื่องเพศ และการรรับประทานอาหาร ก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเก๊าท์ด้วยเช่นกัน
ในปี 2018 มีการเก็บข้อมูลสุขภาพ ยีน และการรับประทานอาหารจากคนอเมริกันในวัยผู้ใหญ่จำนวนมากกว่า 16,000 คน เพื่อหาคำตอบว่า พันธุกรรมมีความเกี่ยวข้องกับโรคเก๊าท์มากกว่าพฤติกรรมในการรับประทานอาหารหรือไม่ PhD. Tanya Major จาก University of Otago ในนิวซีแลนด์ และทีมงานวิจัยระบุว่า แม้อาหาร อย่าง เบียร์ เนื้อแดง และอาหารทะเลบางอย่าง จะมีความสัมพันธ์อย่างมากเกี่ยวกับการเป็นโรคเก๊าท์ แต่ก็ไม่มากเท่ากับพันธุรกรรม โดยอาหหารมีความเกี่ยวข้องไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ในการเพิ่มระดับกรดยูริคในร่างกาย ในขณะทีพันธุกรรมมีความเกี่ยวข้องเกือบ 24 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ในปี 2017 และ 2018 ก็มีงานวัยที่ให้ผลไม่ต่างกันทั้งในไต้หวัน และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ แม้ว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงพันธุกรรมได้ แต่เราสามารถดูแลร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และความเสี่ยงต่อการที่โรคจะกำเริบได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มากเกินไป
- ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ ในแต่ละวัน เพราะมีงานวิจัยออกมาว่า การดื่มน้ำมาก ๆ นั้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์กำเริบได้
- ลดการรับประทานอาหาร ที่จะส่งผลให้ร่างกายมีระดับกรดยูริคที่มากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีพิวรีนสูง อย่างเช่นเครื่องในสัตว์ เนื้อแดง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนต่ำ และนมเนมที่มีไขมันต่ำ
- เข้ารับการการรักษา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์