fbpx

โรคก้มหน้าส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

โรคก้มหน้าส่งผลกระทบอะไรบ้าง

สังคมก้มหน้า” เกิดขึ้นทั่วโลกมานานพอสมควร ตั้งแต่เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร สมาร์ทโฟนได้รับการเผยแพร่และถูกยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนในสังคม แต่ละวันเราจะเห็นผู้คนต่างพากันก้มหน้าเพื่อจับจ้องกับหน้าจอสมาร์ทโฟนของตัวเอง จากจุดเริ่มที่มีความวิตกกันว่า คนในสังคมจะขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีไปจนมาถึงวันนี้ สิ่งที่ต้องให้ความห่วงใยมากกว่าก็คือ “โรคก้มหน้า”

โรคก้มหน้าคืออะไร

โรคก้มหน้า หรือที่เรียกว่า “เท็กซ์เนค”  เป็นคำเรียกโดยรวมของโรคที่เกิดจากการใช้อิริยาบถผิดท่าทางจากการใช้สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โดยมีอาการก้มหน้าเป็นที่มาของโรค จึงเรียกว่าโรคก้มหน้า

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคก้มหน้า

           การก้มหน้าแบบซ้ำๆ ในท่าที่ไม่เป็นธรรมชาติ จนทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกส่วนต้นคอ ต้องรับน้ำหนักของศีรษะโดยไม่ใช่หน้าที่ ซึ่งท่าที่ผิดธรรมชาตินี่เองที่ส่งผลกระทบถึงกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และเส้นประสาท มีการรั้งจนเกิดอาการปวดนั่นเอง

           ทั้งนี้ เนื่องจากศีรษะของคนเรามีน้ำหนักไม่น้อย อาจจะถึง 5 กิโลกรัมทีเดียว เมื่อมีการก้มศีรษะลงไปผิดตำแหน่ง แทนที่กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นจะรับน้ำหนักศีรษะแบบสมดุล กลับเหนี่ยวรั้งน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวทีเดียว รวมถึงถ้าผิดมากกว่านั้นอาจรับน้ำหนักสูงสุดถึง 20 กิโลกรัมทีเดียว

อาการของโรคก้มหน้า

อาการของโรคก้มหน้า มีอาการแตกต่างกัน โดยมีตั้งแต่

  1. มีอาการปวดหัวศีรษะ
  2. อาการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ จนถึงกล้ามเนื้อเกร็งจับกันเป็นก้อน
  3. อาการปวดบริเวณข้างเคียงที่สืบเนื่องจากกล้ามเนื้อคอไป เช่น ปวดช่วงท้ายทอย บริเวณข้างๆ หรือส่วนที่เชื่อมต่อจากศีรษะมาถึงหน้าผาก กระบอกตา ขมับ
  4. อาการเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนต้นคอ
  5. อาการปวดร้าวไปจนถึงบริเวณไหล่ ต่อเลยไปถึงแขน
  6. อาการชาแขน แขนและมืออ่อนแรง
  7. การอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังส่วนบน

โดยรวมมีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับอิริยาบถก้มหน้าแบบต่อเนื่องจนกล้ามเนื้อเกร็งต่อเนื่องเรื้อรังและลามไปสู่อวัยวะใกล้เคียง

การรักษาโรคก้มหน้า

ในการรักษาโรคนี้ ขึ้นอยู่กับอาการของโรคแต่ละเคส รวมถึงความหนักเบาของโรค ดังนั้น วิธีรักษาโรคจึงแตกต่างกัน คือ

  1. หากเป็นอาการเบื้องต้นคือปวดเมื่อย ให้รักษาด้วยการบริหารกล้ามเนื้อ และบรรเทาอาการโดยไม่ทำซ้ำในอิริยาบถที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ คือ ต้องลดการใช้สมาร์ทโฟน เพื่อเลี่ยงการก้มหน้านั่นเอง
  2. เพิ่มระดับการบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ไปถึงการทำกายภาพบำบัด
  3. หากการบริหารกล้ามเนื้อไม่เพียงพอต่อการรักษา อาจต้องพึ่งยาทั้งเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายอาการเกร็ง บรรเทาอาการอักเสบกล้ามเนื้อ
  4. อาจเป็นขั้นสุดของการรักษาโรคก้มหน้าเลยก็คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายของเส้นประสาท การเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนคอ หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือทับเส้นประสาท ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น แผลจะเล็กมาก และพักฟื้นใช้เวลาน้อยลง

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคก้มหน้า

เมื่อทราบสาเหตุว่า โรคก้มหน้าเกิดจากการก้มหน้าในอิริยาบถที่ผิดจากตำแหน่งปกติ ทำซ้ำๆ บ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลข้างเคียง คือ ปวดกล้ามเนื้อ เกร็งกล้ามเนื้อนั่นเอง ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคก้มหน้าจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ ไม่ก้มหน้าแบบผิดธรรมชาติ

  1. การใช้สมาร์ทโฟน ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงๆ
  2. ท่าทางในการดูหน้าจอสมาร์ทโฟนควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ก้มหน้าจนกระดูกคอ กล้ามเนื้อต้องรองรับน้ำหนักเกินกำลัง
  3. หากจำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนต่อเนื่องจริงๆ ไม่ควรอยู่นิ่งๆ แบบนั้น แต่ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ถี่ๆ คือเงยหน้าขึ้นมาอยู่ในท่าปกติ เพื่อกระดูกคอ กล้ามเนื้อจะได้รับน้ำหนักที่สมดุล ไม่ทำงานหนักเกินไป เช่น เงยหน้าทุก 10-15 นาที แต่หากอาการของร่างกายฟ้องว่า ต้องการพักผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาจจะเงยหน้าและพักบริหารกล้ามเนื้อบ้างเป็นระยะๆ เพราะร่างกายของเราจะทำหน้าที่ของตัวเอง เมื่อต้องการพักกล้ามเนื้อจะฟ้องว่า ถึงเวลาพักแล้ว ก็อย่าฝืน
  4. เปลี่ยนท่าใช้สมาร์ทโฟนไปเลย แทนที่จะก้มหน้าก้มตาจ้องโทรศัพท์ในมือ ก็ยกโทรศัพท์ขึ้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะกับสายตา ไม่ต้องก้มหรือเงย อาจพึ่งขาตั้งโทรศัพท์ก็จะจัดระดับได้เหมาะขึ้น ไม่เคลื่อนบ่อยๆ ด้วย
  5. กรณีที่เกิดอาการบอกเหตุว่า ถ้ายังฝืนต่อไปจะก้าวไปสู่การเป็นโรคก้มหน้าอย่างแน่นอน ก็ต้องรีบเยียวยาอาการของตัวเองไปพลางๆ อย่าปล่อยจนเป็นโรคจริงๆ
  6. หากมีอาการที่ไม่สามารถวินิจฉัยเองหรือเยียวยาตัวเองได้ ควรรีบพบแพทย์ตามความจำเป็น อย่าคิดว่า ใช้เวลาดูแลตัวเองแล้วจะหายได้

           เมื่อการใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะมีประโยชน์มากกว่าการสื่อสาร คือรวมเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งหมด และต้องตามให้ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่การพึ่งพาอาศัยสมาร์ทโฟนเพื่อความสะดวกในชีวิตต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ให้ประโยชน์มีโทษข้างเคียงตามมา เนื่องจากประโยชน์ที่พ่วงกับสุขภาพที่เสียหาย นับว่าไม่คุ้มอย่างยิ่ง ดังนั้น ควรใช้อย่างถูกวิธี ไม่ประมาทในชีวิต เพราะโทษของโรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไม่ใช่เรื่องเล็ก อาจลามไปถึงโรคกระดูกเสื่อม ทรุด กระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพขั้นสุดที่ไม่มีใครอยากเจอ

           พึงระลึกว่า โรคก้มหน้านั้นเป็นโรคที่สร้างขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากเชื้อโรค การป้องกันจึงต้องเกิดจากตัวเอง