fbpx

วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อค ภัยเงียบใกล้ตัวของสังคมก้มหน้า

วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อค

วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อค ภัยเงียบใกล้ตัวของสังคมก้มหน้า
      เป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่หลายคนอาจกำลังเผชิญอยู่แต่ไม่รู้ว่าเป็นภัยร้ายกว่าที่คิด สำหรับ โรคนิ้วล็อค เพราะด้วยไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของสังคมเมืองที่มักจะก้มหน้าใช้นิ้วเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้นก่อนที่จะมีอาการถึงขั้นรุนแรงเราควรเรียนรู้วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อคไว้ก่อนที่จะสาย

อาการโรคนิ้วล็อค
     อาการของโรคนิ้วล็อคสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ส่วนใหญ่แล้วคนไข้จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการตั้งแต่ในระยะแรก เพราะเมื่อมีอาการมักจะไม่สามารถหายเองได้ โดยระยะของโรคมีดังต่อไปนี้

  • 1 ปวดหรือเจ็บที่บริเวณฝ่ามือ แต่ยังสามารถขยับนิ้วได้ตามปกติ
  • 2 เริ่มมีอาการเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น สะดุดเมื่อขยับ ง้อ เหยียดนิ้ว เพราะปลอกเส้นเอ็นตีบแคบลง แต่ยังสามารถใช้งานได้
  • 3 มีอาการกำมือแล้วจะกำค้างไม่สามารถก้างนิ้วออกเองได้ ต้องใช้มืออีกข้างช่วยคลายนิ้วออก
  • 4 ในระยะนี้จะสามารถเป็นได้หลายอาการ ไม่ว่าจะเป็น กำมือแล้วคลายมือออกไม่ได้ แม้จะใช้มืออีกข้างมาช่วยคลายก็ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ หรือไม่สามารถกำมือลงได้ เจ็บฝ่ามือและอักเสบบวม

สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
     ต้นเหตุของโรคนิ้วล็อคเกิดจากพฤติกรรมการใช้งานนิ้วที่หนักเกินไปหรือใช้งานในท่าซ้ำๆ เป็นเวลานาน การยกของหนักหรือแบกไว้เป็นเวลานานหรือทำซ้ำบ่อยๆ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้เปลือกหุ้มเอ็นที่นิ้วเกิดการอักเสบ เมื่อมีอาการบวมอักเสบเกิดขึ้นความยืดหยุ่นของเอ็นนิ้วจะลดลงจนไม่สามารถยืดหรือว่าง้อนิ้วได้ตามปกติ ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างวันจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคนี้หรือไม่ ความจริงแล้วหากเล่นสมาร์ทโฟนในลักษณะที่ไม่มีการเกร็งข้อมือและออกแรงกดหรือกำแน่นๆ เป็นเวลานาน ไม่ได้เร่งหรือสัมพันธ์กับการเกิดโรค แต่สำหรับผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในลักษณะที่ต้องเกร็งข้อมือเป็นเวลานานๆ โดยที่ไม่ได้ผ่อนคลายฝ่ามือเลยสามารถทำให้มีอาการโรคนิ้วล็อคได้เช่นกัน

กลุ่มเสี่ยงโรคนิ้วล็อค
     บุคคลที่มีความเสี่ยงโรคนิ้วล็อคสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ผู้ที่มีอาชีพต้องใช้มืออกแรงตลอดเวลา หรือทำงานออกแรกในลักษณะที่ทำซ้ำๆ อาทิ คนสวนใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง, พนังงานซ่อมรถที่ใช้ไขควงตลอดทั้งวัน เป็นต้น
  • ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ที่อาการของโรคมีผลต่อการอักเสบของเนื้อเยื่อที่มือ อาทิ โรคเกาต์, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • ผู้สูงอายุ โรคนิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุเพราะการใช้งานมือที่สะสมมานานรวมทั้งความเสื่อมของเส้นเอ็นต่างๆ ก็มีผลทำให้มีอาการได้

การป้องกันโรคนิ้วล็อค
     แม้ว่าจะเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งของร่างกายที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากเราเรียนรู้ป้องกันและใช้งานมืออย่างเหมาะสมก็จะช่วยรักษาเส้นเอ็นภายในนิ้วของเราให้ใช้งานได้ไปนานๆ โดยวิธีป้องกันโรคนิ้วล็อคสามารถทำได้ดังนี้
     1. หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนัก แต่หากจำเป็นต้องหิ้วให้พยายามใช้ฝ่ามือในการรับน้ำหนัก อย่าให้นิ้วรับน้ำหนักทั้งหมดและควรหาผ้ามารองเพื่อลดการกดทับที่บริเวณนิ้วมือ
     2. ระหว่างวันที่ใช้งานมือหนักหรือทำงานต่อเนื่อง ควรเว้นระยะพักมือและยืดกล้ามเนื้อหรือสะบัดข้อมือเพื่อพักบ้าง รวมทั้งผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนหรือเล่นเกมเป็นเวลานานๆ หากเกร็ดหรือใช้แรกกดที่นิ้วตลอดเวลาควรหยุดพักเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค
     3. การบริหารกล้ามเนื้อมือสามารถทำได้ด้วยการเหยียดแขนให้ตรงระดับหัวไหล่ทั้งสองข้าง จากนั้นให้มือข้างหนึ่งตั้งขึ้นและอีกข้างดันกันไว้ แล้วนับ 1-10 ทำซ้ำประมาณ 5 ครั้ง เพื่อยืดกล้ามเนื้อให้ได้ผ่อนคลาย
     4. งดดีดนิ้วหรือหักข้อมือเล่นเพราะจะยิ่งเร่งให้เกิดโรคนิ้วล็อคได้เร็วขึ้น
     5. หากจำเป็นต้องซักผ้าด้วยมือ ไม่ควรใช้มือบิดผ้าจนแห้งเกินไป เพราะกิจกรรมที่ใช้แรงกำแน่นๆ อย่างการบิดผ้าจะทำให้เอ็นนิ้วมือเสื่อมได้ง่ายขึ้น
     6. หากพบว่าตื่นมาในตอนเช้าแล้วมือเมื่อยล้าเพราะการใช้งานมือที่มากเกินไป ควรแช่มือด้วยน้ำอุ่น 15-20 นาที ทุกวัน และกำมือเบาๆ ในน้ำ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ แต่หากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
     7. การบริหารมือด้วยการกำลูกบอลหรือลูกเหล็ก ไม่ใช่การบริหารมือที่ถูกต้องเพราะยิ่งทำให้มีอาการนิ้วล็อคได้ง่ายขึ้น
     8. หากมีอาการนิ้วล้อคหรือเบาฝามือข้อมือ ควรพักการใช้มือโดยเฉพาะในนิ้วที่มีอาการล็อค
   

     การป้องกันโรคนิ้วล็อค สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมของตัวเราเอง หลีกเลี่ยงการใช้งานนิ้วมือ ข้อมือ ฝ่ามือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เพราะจะยิ่งเร่งให้เส้นเอ็นนิ้วมือใช้งานหนักมากขึ้น เสื่อมไวขึ้น จนทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคขึ้นนั้นเอง ดังนั้นอย่างลืมที่จะบริหารกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือเป็นประจำเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการนิ้วล็อค โรคใกล้ตัวอีกโรคที่น่ากลัวไม่น้อยเลยจริงๆ