fbpx

นิ้วชามือชาแบบไหนเสี่ยงโรค

นิ้วชามือชาแบบไหนเสี่ยงโรค

 

อาการชามือ ชาปลายนิ้ว แม้ดูเหมือนเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่ปล่อยไว้ไม่นานก็สามารถหายเองได้ แต่ในบางรายที่มีอาการชาบ่อยๆ ชาเฉพาะที่หรือชานานกว่าปกติไม่ควรปล่อยอาการทิ้งเอาไว้นาน เพราะอาการชาอาจลุกลามจนไม่สามารถใช้งานมือได้อย่างปกติ รวมทั้งอาการชายังเป็นหนึ่งในอาการสำคัญของหลายๆ โรคร้ายอีกด้วย

อาการชาเกิดจากอะไร

อาการชานั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการเผลอนอนทับแขนตัวเอง การนั่งท่าเดิมนานๆ โดยลักษณะอาการชาที่เกิดจากเรื่องใกล้ตัวอย่างนี้จะสามารถหายได้เองในเวลามานาน เพราะเกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยงแบบชั่วคราว แต่หากเป็นอาการชาเฉพาะจุดอาทิ การชาปลายนิ้ว ชาทั้งมือ ชาบางนิ้ว ถือเป็นอาการข้างเคียงของโรคร้ายหลายๆ โรค อาทิ โรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาท, โรคเกาต์, โรครูมาตอยด์ เป็นต้น นอกจากนี้อาการชายังอาจเกิดขึ้นได้จากการขาดวิตามินบางชนิดด้วย

ลักษณะอาการชาแบบไหนเสี่ยงโรค

  • ชาเฉพาะที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และในบางรายอาจชานิ้วนางครึ่งซีกด้วย ลักษณะนี้จะเป็นอาการเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาทมือที่ถูกบีบรัดหรือโรคที่เกี่ยวกับกระดูกทับเส้นประสาท
  • ชาเฉพาะนิ้วก้อย อาการชาลักษณะนี้มักเกิดจากการเกร็งงอข้อศอกเป็นเวลานานๆ อาทิ การถือหูโทรศัพท์หรือการเล่นมือถือ
  • ชาที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง แต่มีอาการปวดมือหรือปวดลามไปทั้งแขนร่วมด้วย อาการลักษณะนี้เป็นอาการเสี่ยงของโรคเส้นประสาทกดทับที่มือ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากการใช้งานมือในลักษณะเกร็งในท่าเดิมนานๆ อาทิ คนที่ใช้กรรไกรตัดต้นไม้ทั้งวัน หรือคนที่ต้องจับมีดหันของทั้งวัน
  • ชาบริเวณปลายเท้าและปลายมือ ลักษณะอาการนี้มักจะเกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือมีอาการเสื่อม รวมทั้งยังอาจมีสาเหตุจากภาวะขาดวิตามินบี 1, บี6 หรือบี 12
  • ชามือและนิ้วมือ รวมทั้งมีอาการปวดร้อนตามกระดูกและข้อ ลักษณะเช่นนี้เป็นหนึ่งในอาการของโรคเกาต์หรือโรครูมาตอยด์ ซึ่งอาการดังกล่าวหากเกิดขึ้นบ่อยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด

นอกจากนี้อาการชาที่ปลายนิ้วหรือมือยังสามารถเกี่ยวข้องได้อีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น โรคปลายเส้นประสารอักเสบ, โรคเรย์นอด, โรคเบาหวาน, โรคเอ็นข้อมืออักเสบ ฯลฯ ดังนั้นแม้อาการชาตามมือตามนิ้วจะเป็นอาการที่ดูแล้วเล็กๆ น้อยๆ แต่หากมีอาการชาบ่อยๆ และเป็นมากขึ้น ชาลามไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือมีอาการปวดมือรวมด้วยไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างยิ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาต้นเหตุทันที

 

ช่องทางติดต่อ

“คลินิกกระดูกและข้อ หมอสุทธิ์”

โทร : 061-010-6396
LINE : @drsuttclinic (อย่าลืมใส่ @)
Facebook : คลินิกกระดูกและข้อ หมอสุทธิ์