fbpx

อาการที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

อาการที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

          เวลาที่คุณรู้สึกปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ เป็นมากๆ มักจะถูกทักว่า สงสัยเป็น “ออฟฟิศซินโดรม” แท้จริงแล้ว ต้องมีอาการปวดขนาดไหน หรือมีอาการบ่งบอกอย่างไรจึงจะแน่ใจได้ว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม เรามาดูกัน


ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร


         ออฟฟิศซินโดรม เป็นอาการปวดที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งซ้ำๆ แบบต่อเนื่องโดยไม่มีการบริหารคลายอาการ จนกระทั่งกล้ามเนื้อเหล่านั้นมีอาการยึดเกร็ง จนกระทั่งเมื่อเป็นมากเข้าๆ จะมีอาการปวดตามมา


ออฟฟิศซินโดรมมีแนวโน้มเกิดกับใคร


         โรคนี้มักเกิดกับกลุ่มคนที่ทำงานประเภทที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ งานรูทีนที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายมากนัก เช่น
1. คนที่นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องวันละหลายๆ ชั่วโมง
2. คนที่ยืนทำงาน พร้อมอิริยาบถซ้ำไปซ้ำมาตลอดวัน
3. คนที่มีปกติหลังค่อม ห่อไหล ยกไหล่ ก้มคอ จนติดเป็นนิสัยไม่ว่าจะนั่ง ยืน หรือเดิน

อาการที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม


         ออฟฟิศซินโดรม ไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่เป็นอาการสะสม เรื้อรัง จึงเป็นโรคที่หากรู้จักป้องกันก่อนก็จะรอดพ้นได้ แม้ว่าจะเป็นบุคคลที่มีชีวิตประจำวันมีแนวโน้มที่จะเป็นได้ เพราะโดยปกติของคนเราเวลาที่มีการใช้กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งนานๆ มักจะเกิดอาการเมื่อยล้ากล้ามเนื้อส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอ บ่า ไหล่ แขน ข้อศอก ข้อมือ จนถึงนิ้ว หรือส่วนสะบัก หลัง เอว สะโพก ต้นขา ขา หัวเข่า ปลีน่อง ข้อเท้า จนถึงเท้า นั่นคือ ทุกอวัยวะมีการปวดเมื่อยได้ ซึ่งการเกิดขึ้นของอาการดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป เพราะคิดว่าเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในระดับต่อไปนี้ พึงระลึกว่า เข้าข่ายเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้ว คือ
1. มีอาการปวดหัวเป็นประจำ บางทีมีอาการไมเกรน ปวดข้างเดียว ที่ไม่ได้เนื่องจากอาการเป็นไข้หรือเป็นหวัดไม่สบาย แต่จู่ๆ ก็เป็นและเป็นบ่อยๆ จนเรียกว่าเป็นอาการปวดหัวเรื้อรัง ซึ่งมักเป็นอาการเครียดสะสมจากการทำงานหนัก ซ้ำๆ เป็นอาการที่แม้จะกินยาก็ไม่หาย ส่วนสาเหตุนั้นมีที่มาหลายประการเช่น การจ้องคอมพิวเตอร์นานๆ สายตาล้าแล้วยังฝืนเป็นประจำ
2. มีอาการปวดไปหมดทั้งคอ บ่า ไหล่ ทั้งขณะนั่งทำงาน หรือแม้แต่เลิกงานไปแล้ว อาการเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เป็นประจำจนเรียกได้ว่า ปวดเรื้อรัง เมื่อไปทำงานซ้ำอีก อาการก็จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกล้ามเนื้อยึดตึงแล้วผ่อนคลายตัวเองไม่ได้ ขาดความยืดหยุ่น ยิ่งนานวันก็ยิ่งปวดเพิ่มขึ้น อาการปวดจะยิ่งทับทวี จนบางครั้งเพียงแค่ขยับคอก็รู้สึกเจ็บแล้ว อิริยาบถที่เป็นวิถีชีวิตประจำวันก็เป็นไปอย่างผิดปกติ เจ็บทุกครั้งที่ขยับ
3. อาการต่อมาคือ ปวดหลัง ทั้งที่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุ หรือแบกของหนักอะไร จะว่าไปแล้ว อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ สาวๆ เดินช้อปปิ้งครั้งละนานหลายชั่วโมงก็อาจมีอาการนี้ได้ แต่เป็นแล้วก็หายเมื่อได้พัก แต่อาการที่เข้าขั้นเป็นออฟฟิศซินโดรมจะเป็นอาการปวดเรื้อรัง รู้สึกถึงความตึงของหลัง คือปวดตึงๆ เพราะกล้ามเนื้อรัดตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคนที่นั่งนานๆ ท่าเดิมซ้ำทุกวัน หรือยืนบนรองเท้าส้นสูงนานๆ ก็มีโอกาสเป็นเช่นนี้ได้
4. อาการปวดที่เรื้อรังมากขึ้น บีบนวดก็ไม่หาย และมีอาการชาตามมา ไม่ว่าจะเป็นบริเวณแขน ไล่เรื่อยไปจนถึงบริเวณมือ นิ้ว หรือตามข้อ โดยเฉพาะคนที่ต้องพิมพ์งาน หรือจับเมาส์ทำคอมประจำ นิ้วมือ ข้อมือจะปวดเกร็ง นั่นเพราะว่า เมื่อกล้ามเนื้อยึดเส้นตึง และปล่อยทิ้งไว้จนพังผืดเกาะ อาจมีอาการนิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกก็ได้
5. มีอาการปวดขา ขาชา เป็นเหน็บเป็นตะคริวง่าย และเป็นบ่อยๆ เมื่อเป็นมากขึ้น อาจลามไปจนถึงขาอ่อนแรง ทั้งนี้เนื่องจากอาการปวดเรื้อรัง กล้ามเนื้อไม่ได้รับการคลาย การไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณขาไม่ได้ ขาชา เท้าชา จึงตามมา จนถึงขาอ่อนแรงดังกล่าว เดินๆ อยู่อาจมีอาการเซก็ได้

อาการข้างเคียงจากอาการปวด


         อาการปวดเรื้อรังเป็นอาการของออฟฟิศซินโดรมที่จะพัฒนาไปสู่อาการอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่าตามมา เช่น
1. อาการชาตามแขนขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะเส้นประสาทถูกกดทับ
2. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อถูกคุกคาม
3. มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
4. บังคับการเคลื่อนไหวของแขนขาไม่ได้
อาการทั้งหลายเหล่านี้ เกิดจากอิริยาบถที่ผิดปกติทั้งสิ้น ทั้งนี้ไม่นับเฉพาะคนที่ทำงานออฟฟิศ แม้แต่นักร้องที่มีอิริยาบถผิดปกติด้วยท่าเล่นดนตรี ก็อาจจะเป็นได้ เมื่อผนวกกับการทำงานหนักซ้ำซ้อนก็จะปรากฏผลเร็วขึ้น


ทำอย่างไรจึงจะลดโอกาสการเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม


1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อทุกส่วนมีความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ยืดหยุ่นจะมีประสิทธิภาพในการคืนตัวได้เร็วกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แม้จะมีอิริยาบถซ้ำๆ เหมือนกัน คนออกกำลังจะคลายกล้ามเนื้อได้ดีกว่า
2. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่มีความเสี่ยงจะเป็นออฟฟิศซินโดรม เช่น การนั่งหลังงอ คอตก การวางแขนในตำแหน่งสูงไปหรือต่ำไปตลอดเวลาโดยไม่มีวัตถุรองรับจึงทำให้ต้องเกร็งประจำ
3. การปล่อยให้น้ำหนักตัวสูงมากๆ จนพุงยื่น เพราะร่างกายจะเสียสมดุลจนทำให้อิริยาบถยืน เดิน นั่ง ผิดปกติไปตลอดเวลา
ออฟฟิศซินโดรมไม่ใช่โรคปัจจุบันทันด่วน แต่มีอาการบ่งชี้เกิดขึ้นก่อน หากแก้ไขได้ทัน ไม่ประมาท ก็จะไม่ถึงขั้นวิกฤติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *