โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่ผู้คนรู้จักกันในแง่ของอาการที่เป็นว่า ถ้าใครเป็นโรคนี้จะเจ็บปวดทรมาน เคลื่อนไหวไม่ได้ เวลาผ่าตัดก็มีความเสี่ยงว่า หลังผ่าตัดจะกลับมาเป็นเหมือนก่อนเป็นโรคได้หรือเปล่า ดังนั้น โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท จึงเป็นโรคที่ทุกคนควรเรียนรู้เรื่องสัญญานเตือนของโรคเพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง
หมอนกระดูกคืออะไร
หมอนกระดูกหรือหมอนรองกระดูก จะเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างกระดูกสันหลังที่มีปกติเป็นข้อๆ มีความแข็ง แต่ตรงส่วนที่เรียกว่าหมอนรองกระดูก จะคล้ายหมอนนิ่มๆ เป็นจุดใช้ในการหมุน รองรับน้ำหนัก หรือจะเปรียบเสมือนว่าหมอนรองกระดูกช่วยทำให้กระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่น เวลาเคลื่อนไหวตัวได้ โดยกระดูกไม่กระแทกกันเพราะมีหมอนรองรับเหมือนโช๊คอัพรถยนต์
หมอนกระดูกทับเส้นประสาทเป็นอย่างไร
หมอนรองกระดูกจะมีโพรงประสาท ที่มีรากประสาทที่เป็นส่วนต่อของไขสันหลังยื่นออกมา ในอิริยาบถที่ผิดปกติอาจทำให้หมอนรองกระดูกเกิดการเคลื่อนตัวผิดรูป หรือบางกรณีหมอนรองกระดูกเกิดการอักเสบแล้วไปดันเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวด อาการที่ปวดเวลาเคลื่อนตัวบริเวณกระดูกสันหลังระดับเอวข้อที่ 4-5 ซึ่งเป็นส่วนที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่นั้น บางครั้งอาจไม่ใช่รุนแรงถึงขั้นทับเส้นประสาท เพราะหากทับเส้นประสาทแล้ว คนๆ นั้นอาจเคลื่อนไหวไม่ได้เลย เพราะปกติเส้นประสาทจะมีอะไรไปถูกไม่ได้ เพราะเป็นส่วนของสัญญาณรับรู้ของมนุษย์เรา
แต่ข้อต่อกระดูกเกิดการเคลื่อนตัวแล้วมีอาการอักเสบ แล้วบางส่วนของเอ็นที่ยึดข้อกระดูกไปเบียดกับหมอนรองกระดูก อาจเป็นการอักเสบของกล้ามเนื้อรอบๆ ด้าน การอักเสบของข้อต่อกระดูกก็เป็นได้ ดังนั้น จึงอาจพบว่า คนที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท บางราย ไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด แต่รักษาด้วยวิธีอื่นได้นั่นเอง
สัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีอาการปวดเป็นหลัก สัญญาณเตือนคืออาการเหล่านี้
1. มีอาการปวดหลังช่วงล่างแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หากใครมีอาการเหล่านี้ควรสังเกตตัวเองว่า มีอาการปวดมากในเวลาก้มหยิบของใช่หรือไม่ ถ้าใช่และเป็นต่อเนื่องเป็นเดือนๆ นับว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้แล้ว
2. มีอาการปวดและชาขา หรือมีอาการปวดแบบร้าวไปทั้งแนวตั้งแต่สะโพกร้าวไปไล่ลงไปถึงน่อง ลงไปถึงเท้า บางคนเกิดอาการตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า กว่าจะก้าวขาเดินได้ ต้องใช้เวลา
3. มีอาการปวดในเวลาเดิน ปวดคล้ายเป็นตะคริวจนต้องเดินๆ หยุดๆ ปวดร้าวทนไม่ไหว บางคนเป็นข้างเดียว บางคนเป็นที่ขาทั้ง 2 ข้าง และถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอาการขาอ่อนแรงตามมา
4. กรณีปวดที่แขน จะมีอาการตั้งแต่คอ บ่า ไหล่ ร้าวลงไปตามแขน ไล่เรื่อยลงไปถึงมือ ลักษณะการปวดจะเป็นๆ หายๆ เหมือนเป็นที่สะโพกลงขาและเท้าเช่นกัน รวมไปถึงทำให้เกิดอาการชาและมืออ่อนแรง ควบคุมใช้งานไม่ได้
5. อาการเรื้อรังที่ต้องสังเกตคือ มากกว่า 2 สัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ และมีอาการรุกลามมากขึ้นทุกทีๆ
6. มีอาการเสียวต้นคอ เกิดอาการคอเกร็งจนหันไม่ได้
7. ปวดในอิริยาบถในชีวิตประจำวัน นั่ง หรือแม้แต่นอนแล้วพลิกตัวก็ปวด บางคนรู้สึกปวดลึกๆ จนแม้แต่ไอหรือจาม หรือเบ่ง ก็ปวดในไขสันหลัง เมื่อมีอาการมากไปกว่านั้น จะเริ่มมีปัญหาควบคุมการขับถ่ายยากขึ้น
วิธีรักษาโรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท
หลายคนเมื่อเป็นแล้ว มักเกิดอาการวิตกว่า จะต้องผ่าตัดซึ่งมีความเสี่ยงสูงเรื่องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคนี้ 90% ไม่ต้องถึงขั้นผ่าตัด แต่รักษาตามอาการหนักเบา เพราะคนไข้บางคนไม่ถึงกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่เกิดจากการอักเสบ การเคลื่อนของกระดูกไปเบียดเส้นประสาท เป็นต้น สังเกตคือ ถ้ายังเคลื่อนไหวได้จะไม่ถึงกับทับเส้น
1. รักษาด้วยยา คือรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการปวด
2. ทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอ หรือกระดูกสันหลัง สะโพก
3. รักษาโดยการผ่าตัด ข้อนี้แพทย์จะวินิจฉัยและตัดสินใจเลือกการผ่าตัดเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากจำเป็นจริงๆ เท่านั้น
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1. อย่าปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายบริเวณสันหลังต้องรองรับน้ำหนักแบบผิดรูป
2. ระวังเรื่องการยกของหนัก การแบกของ ทำอย่างระมัดระวัง ถูกวิธี
3. กรณีเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อบริเวณคอ สะโพก หลัง ต้องรีบตรวจเอ็กซเรย์ ไม่ประมาทคิดว่าเล็กน้อยไม่เป็นไร
4. อิริยาบถประจำวัน โดยเฉพาะการนั่งออฟฟิศทำงาน จากออฟฟิศซินโดรม อาจลามไปถึงอิริยาบถที่ผิดปกตินานๆ จนมีการเคลื่อนของกระดูกได้ อิริยาบถอื่นเช่น การนั่ง การนอน ให้ถูกวิธี ไม่ฝืนกับสภาพธรรมชาติของร่างกาย
5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้ร่างกายมีประสิทธิภาพรองรับการบาดเจ็บเล็กน้อยได้
6. อย่าสูบบุหรี่จัด เพราะมีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้ เนื่องจากออกซิเจนไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่พอ
7. การยกของประจำวัน เช่น สะพายกระเป๋าหนักๆ ด้วยไหล่ข้างเดียวซ้ำๆ หรือการใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ จนทำให้ปวดหลัง ก็มีโอกาสเกิดผลต่อเนื่องได้
โรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่ทรมานมาก และมีความเสี่ยงหากเป็นมากถึงขั้นต้องผ่าตัด ดังนั้น ทางที่ดี ควรรักษาอิริยาบถประจำวัน ดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้พ้นความเสี่ยงการเกิดโรคจะดีกว่า