คนเราเมื่อรู้สึกวิตกกังวล ร่างกายของเราก็จะตกอยู่ในสภาวะที่มีความตึงเครียดขึ้นมาทันที ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองโดยอัตโนมัติ เช่น อัตราของการเต้นหัวใจจะเพิ่มขึ้น การหายใจเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และเลือดจะไปหล่อเลี้ยงที่กล้ามเนื้อมากขึ้น รวมไปถึงกล้ามเนื้อเกิดการตึงตัว เป็นต้น การตอบสนองเช่นนี้เกิดจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติซิมพาเทติก เป็นการตอบสนองทางร่างกายที่ จะสู้หรือจะหนี เพื่อต้องการให้ร่างกายเอาชนะหรือมีชีวิตรอดต่อสภาวะที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ซึ่งเมื่อเกิดความเครียดผ่านพ้นไป อาการตอบสนองเหล่านี้ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ของความเครียดกับร่างกาย
คนเราเมื่อเผชิญกับความเครียด ความวิตกกังวล รวมไปถึงอารมณ์ในด้านลบ ก็มักจะแสดงออกมาในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ กอดอก, ห่อไหล่, ทำหลังค่อม และในบางรายอาจมีการกัดฟันร่วมด้วย โดยท่าทางเหล่านี้อาจจะเป็นที่สัญชาตญาณของร่างกายที่ปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย โดยลักษณะของร่างกายที่ปรากฏนั้น ถ้าเป็นนาน ๆ อาจจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ, หลัง และรอบ ๆ ข้อไหล่ เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลกัน อีกทั้งการกอดอกและทำไหล่ห่อจะต้องอาศัยการหดตัวของกล้ามเนื้อบริเวณที่หน้าอกและกล้ามเนื้อบ่า และการที่อยู่ในท่าทางเหล่านั้นเป็นเวลานานจะทำให้หลังค่อมและคอยื่น การที่คอยื่นส่งผลทำให้กล้ามเนื้อด้านข้างลำคอที่เกาะในแนวของกกหูไปยังไหปลาร้าเกิดการหดตัวเกร็งค้าง และกล้ามเนื้อคอจะมัดลึกตรงบริเวณท้ายทอยก็หดตัวเกร็งค้างเช่นกัน เพื่อดึงศีรษะของเราขึ้นมาไม่ให้ตกลง และเพื่อปรับระดับของสายตาให้อยู่ในแนวระนาบทำให้สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนนั่นเอง นี่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราตกอยู่ในภาวะความเครียด
สาเหตุการปวดกล้ามเนื้อ
เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งเป็นเวลานาน ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปวดกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ถ้าหากพิจารณาตามลักษณะและโครงสร้างของกล้ามเนื้อ จะพบว่าบริเวณรอบ ๆ และในกล้ามเนื้อก็จะมีเส้นเลือดวางตัวอยู่ เพื่อจะใช้เป็นเส้นทางในการส่งสารอาหาร ออกซิเจน รวมไปถึงการส่งของเสีย ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ และกรดเพื่อกำจัดทิ้ง ในการหดตัวของกล้ามเนื้อจะมีการสร้างของเสียออกมาอยู่เสมออย่างเช่น กรดแลคติก และเมื่อกล้ามเนื้อหดตัวเกร็งค้างก็จะทำให้ใยกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ จึงส่งผลทำให้เกิดการสร้างสารอักเสบต่าง ๆ ออกมา และในขณะเดียวกันก็ทำให้การหดตัวจนเกร็งค้างของกล้ามเนื้อบีบรัดเส้นเลือดทำให้เส้นทางในการส่งสารต่าง ๆ ไม่สะดวก ทำให้กรดเกิดการคั่งและสารอักเสบรอบ ๆ ของกล้ามเนื้อ ซึ่งสารเหล่านี้สามารถที่จะกระตุ้นตัวรับรู้ความเจ็บปวดที่บริเวณกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดการกระตุ้น ก็จะส่งสัญญาณไปยังสมองโดยผ่านไปตามเส้นประสาทรับความรู้สึก จึงทำให้เราเกิดการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อตามมา
นอกจากนี้ความเครียดและความวิตกกังวลจะเพิ่มระดับความรู้สึกความเจ็บปวดและยังไปลดความอดทนต่อความรู้สึกเจ็บปวด เราจึงรู้สึกปวดกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ไม่ได้เผชิญกับภาวะเครียดนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมใครหลาย ๆ คนที่มีความเครียดหรือว่าเกิดการวิตกกังวลก็มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อบริเวณบ่า, คอ และที่ศีรษะบริเวณท้ายทอย ซึ่งอาการเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมไปถึงการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกให้ทำงานเพิ่มมากขึ้นด้วย
ช่องทางติดต่อ
“คลินิกกระดูกและข้อ หมอสุทธิ์”
โทร : 061-010-6396
LINE : @drsuttclinic (อย่าลืมใส่ @)
Facebook : คลินิกกระดูกและข้อ หมอสุทธิ์