หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เป็นอีกหนึ่งอาการทางกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย เพราะเป็นอาการที่สัมพันธ์กับทั้งการแบกของหนัก การใช้งานหลังที่ผิด การเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งความอ้วนก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ลักษณะของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ลักษณะของภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทจะเกิดขึ้นเมื่อ หมอนรองกระดูกแตกจนทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ภายในโผล่ออกมาและทับเส้นประสาท รวมไปถึงหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือกระดูกเคลื่อนจนไปกดทับเส้นประสาท สาเหตุเหล่านี้ทำให้มีอาการปวดที่สันหลัง แขนขาชาและอ่อนแรง เดินและยืนได้ลำบาก ซึ่งหากเป็นรุนแรงมากๆ จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
สาเหตุของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ส่วนใหญ่แล้วอาการของกระดูกทับเส้นประสาทจะเริ่มจากที่หมอนรองกระดูกแตก เสื่อม จนทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ข้างในโผล่ออกมากดทับที่เส้นประสาท ซึ่งในหลายๆ เคสก็ไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน แต่สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกและกระดูกสันหลังได้ดังต่อไปนี้
– ผู้ที่แบกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง แบกของหนักด้วยการใช้หลังเป็นตัวแบกน้ำหนัก แทนที่จะใช้กล้ามแขนและกล้ามขาช่วยถ่ายเทน้ำหนัก ซึ่งจะส่งผลต่อหมอนรองกระดูกและทำให้มีอาการกระดูกบิดเคลื่อนจนเกิดการกดทับที่เส้นประสาทได้
– น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน กระดูกสันหลังส่วนล่างจะแบกน้ำหนักเอาไว้ตลอดเวลาจึงทำให้มีอาการกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่ายกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ
– อุบัติเหตุ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง การตกจากที่สูง รถชนจนได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง
– พันธุกรรม โรคกระดูกทับเส้นประสาทในหลายๆ เคสเป็นการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม บวกกับพฤติกรรมของแต่ละคนเองด้วย
– การสูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกเสียความยืนหยุ่น จนทำให้กระดูกอ่อนภายในโผล่ออกมาและเกิดอาการกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน
อาการของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ลักษณะอาการของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทสามารถเกิดได้ตลอดแนวของกระดูกสันหลัง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพบบ่อยในสันหลังช่วงล่าง ซึ่งมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
– เมื่อ ไอ จาม แล้วจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่กระดูกกดทับ อาทิ หากกระดูกเส้นที่คอถูกกดทับ เมื่อไอหรือจามจะทำให้รู้สึกเจ็บที่ไหล่และแขน ซึ่งลักษณะการเจ็บจะมีตั้งแต่เจ็บน้อยจนกระทั้งรุนแรงมาก
– ไม่สามารถเดินได้ไกลนัก หากเดินมากๆ จะปวดร้าวที่ขา แม้จะพักนั่งแล้วก็จะยิ่งปวดร้าวมากขึ้น
– มีอาการปวดขาในตอนกลางคืน หรือตอนเคลื่อนไหวในบางท่า
– มีอาการชา เสียวแปลก หรือแสบร้อน ตรงบริเวณที่กระดูกถูกกดทับ
– มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนในบางครั้งสะดุดล้มหรือถือของเองไม่ได้
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทในกรณีที่มีอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อยสามารถซื้อยาแก้ปวดรับประทานเองได้ แต่หากทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการกระดูกทับเส้นประสาทว่าเกิดขึ้นที่ส่วนใหญ่ และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดโดยเฉพาะให้รับประทาน แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ปวดร้าน ชา ลงขา สะโพก แพทย์จะสั่งยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาท และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ ยาคลายกล้ามเนื้อ, สเตียรอยด์รักษาอาการปวดจากเส้นประสาท, การทำกายภาพบำบัด โดยในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการข้างต้นไม่ได้ผลอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
การป้องกันโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
อาการของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสารทมีวิธีป้องกันที่ควรฝึกให้เป็นนิสัย เพราะนอกจากจะช่วยเซฟกระดูกสันหลังของเราแล้วยังช่วยให้ร่างกายส่วนอื่นๆ แข็งแรงไปด้วย โดยมีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้
– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ทุกครั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายอย่าลืมที่จะวอร์มร่างกายให้พร้อมและตื่นตัวก่อน เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อเกร็งตัว นอกจากนี้ในผู้ที่มีอาการกระดูกทับเส้นประสาทอยู่แล้ว ก่อนออกกำลังกายชนิดต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
– จัดระเบียบร่างกายให้ถูกต้องอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาต้องยกของหนัก, นั่งทำงานเป็นเวลานานๆ อย่านั่งงอหลังเป็นอันขาด ต้องยืดหลังให้ตรงอยู่เสมอ
– ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง
– ไม่สูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำลายหมอนรองกระดูกรวมทั้งส่วนอื่นๆ ของร่างกายเราด้วย
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทจึงเป็นอีกหนึ่งอาการใกล้ตัวที่เกิดขึ้นง่ายๆ เพียงชั่วพริบตา เพียงแค่ยกของหนักผิดท่า เอี้ยวตัวยกของหนัก เป็นต้น ดังนั้นอย่าลืมที่จะเซฟหมอนรองกระดูกและกระดูกสันหลังของเราด้วยการฝึกนั่งให้หลังตรงตลอดระยะเวลาทำงาน อย่านั่งท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ควรลุกขึ้นเดินเพื่อยืดเส้นยืดสายเป็นระยะ รวมทั้งควรออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หากพบว่ามีอาการของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทให้รีบรับประทานยาแก้ปวด แต่หากไม่ทุเลาลงให้ไปพบแพทย์ทันที