ปวดหลัง

      ปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยและไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เพราะอาการปวดหลังมีสาเหตุขึ้นได้ทั้งจากกิจกรรมระหว่างวัน การใช้ร่างกายหนักเกินไป การนั่งหรือการเดินที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งยังเป็นผลพวงจากโรคต่างๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นการปวดหลังจึงไม่ใช่อาการที่จะปล่อยปละละเลยได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการต่อเนื่องเรื้อรังจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา

 

ลักษณะของปวดหลัง

    อาการปวดหลัง หมายถึงอาการปวดเมื่อยหลัง เจ็บตึงหรือรู้สึกเจ็บร้าว จากหลังล่ามไปถึงได้ตั้งแต่คอ ก้น และขา ซึ่งลักษณะของอาการปวดหลังเพราะการทำงานหนักหรือเคล็ดขัดยอกธรรมดา คนไข้อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ในกรณีที่ปวดหลังติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบหมอเพราะอาการปวดหลังอาจเกิดจากโรคได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นานไม่รีบทำการรักษาอาจจะโรคที่เป็นอยู่ลุกลามได้

 

อาการปวดหลัง
      ลักษณะอาการปวดหลังสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. มีอาการปวดหลังที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อาทิ ปวดกระดูกสันหลังหรือที่เอว, ปวดกระดูกต้นคอ, ฯลฯ เป็นการปวดที่จุดหนึ่งไม่ปวดร้าวลามไปที่อื่น ซึ่งลักษณะการปวดนี้เป็นการเกิดขึ้นที่ยังไม่มีการกระทบกระเทือนไขสันหลัง
  2. การปวดหลังที่ปวดไปทั่วทั้งหลัง ไม่มีจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการปวดที่เกิดจากอวัยวะอื่นๆ หรือเป็นโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง
  3. อาการปวดที่มีอาการเสียวตามเส้นประสาท อาทิ การปวดเสียวมาจากขาและลามไปที่หลัง จนทำให้เกิดอาการชาและอ่อนแรงได้ ลักษณะอาการแบบนี้เป็นอาการรุนแรงเพราะมีการเบียดกับเส้นประสาท

สาเหตุของการปวดหลัง

      การปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แม้แต่สาเหตุใกล้ๆ ตัวอย่าง ท่านั่ง ท่าเดิน การยกของหนัก เป็นต้น โดยอาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดดังต่อไปนี้

    • ปวดหลังช่วงล่าง ซึ่งมักเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือหมอรองกระดูกสันหลังฉีดขาด จนทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท
    • ปวดหลังช่วงบน ลักษณะอาการปวดที่ด้านบนมักเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อใช้งานมากเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบ หรือการเคลื่อนไหวซ้ำๆ รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุและการเจ็บจากการเล่นกีฬาด้วย
    • ปวดหลังจากอาการของโรค ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังหลายๆ ชนิด สามารถมีอาการปวดหลังได้เช่นกัน อาทิ โรคข้อเสื่อม, โรคข้ออักเสบ, โรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น
    •  ปวดหลังจากการตั้งครรภ์ ในผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน รวมทั้งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
    • ปวดหลังเพราะกิจกรรมประจำวัน ในขณะที่ทำงานหรือยกของหากคุณเคลื่อนไหวแบบฉับพลัน บิดหลังผิดท่า ดึงหรือดันของในท่าที่ไม่ถูกหลัง ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ นอกจากนี้อาการปวดหลังยังสามารถเกิดขึ้นจากการนั่งหรือยืนในท่าที่ไม่ถูกต้องในแบบสะสมเป็นระยะเวลานานๆ อาทิ การนั่งตัวงอ, การนั่งขับรถติดต่อกันนานๆ โดยไม่ได้หยุดพัก, การยกของท่าซ้ำๆ

       

การรักษาอาการปวดหลัง

      หากโรคปวดหลังเกิดขึ้นจากกิจกรรมรอบตัวหรือการใช้กล้ามเนื้อที่หนัก สามารถปรึกษาแพทย์และมักจะหายได้ภาย 2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่ปวดหลังมากกว่า 6 สัปดาห์ แม้ว่าจะพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วอาการก็ไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง โดยแพทย์จะตรวจอย่างละเอียดและแนะนำการออกกำลังกายหรือการปรับท่านั่งท่าเดินต่างๆ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังเพราะสาเหตุจากโรคอื่น แพทย์จะดำเนินการรักษาที่โรคต้นเหตุ

      ส่วนผู้ที่มีอาการปวดหลังไม่มากหรือปวดในระยะสั้น สามารถไปพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังเบื้องต้นและช่วยไม่ให้เกิดปัญหาการปวดหลังเรื้อรัง โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะทำการรักษาด้วยการรับประทานยา, ครีมทาบรรเทาอาการปวด แต่ในกรณีที่มีอาการปวดแบบเรื้อรังการรับประทานยาแก้ปวดตลอดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงในกระเพาะอาหารได้ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย


 

การป้องการอาการปวดหลัง
   
    หลายครั้งที่อาการปวดหลังเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกหลัก จึงทำให้หลังและกระดูกสันหลังต้องเกร็งช้ำและอักเสบจนทำให้มีอาการปวดหลังตามมา ดังนั้นวิธีการป้องกันอาการปวดหลังต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการยืน เดิน นั่งและการนอน ให้ถูกต้องถูกหลักการ เมื่อต้องยกของหนักให้ย่อขา อย่างอหลัง รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังให้แข็งแรงขึ้น สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังอยู่ก่อนแล้ว การออกกำลังกายควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้หลังต้องทำงานหนักเกินไปและควรเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมด้วย

      อาการปวดหลังจึงเป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าจะนั่งทำงานเบาๆ แต่หากนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้องก็สามารถเกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีอาการปวดหลังในระยะแรกแล้วไม่หายได้เองหรืออาการไม่ทุเลาลงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง แต่หากอาการสามารถทุเลาเองได้เมื่อพักหลังหรือรับประทานยา ก็ควรสำรวจตัวเองและปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือพฤติกรรมการใช้หลังให้ถูกต้องอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอาการปวดหลังที่สามารถเกิดขึ้นได้อีก