นิ้วชา

       อาการนิ้วชาเป็นอีกหนึ่งอาการที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่สามารถจะมองข้ามไปได้ เพราะ นิ้วชา หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดปัญหากล้ามเนื้อที่โคนนิ้วหัวแม่มือลีบได้ ซึ่งอาการชาสามารถเกิดได้จากทั้งการใช้งานข้อมือที่หนัก รวมทั้งผลพ่วงมาจากโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

ลักษณะของอาการนิ้วชา
       ลักษณะการชาที่นิ้วสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้างหรือเป็นเพียงข้างเดียว หรือในบางรายอาจจะชาเฉพาะปลายนิ้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงมือหรือเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากสมองมีปัญหา อาการชาแม้หลายคนจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากมีอาการชาที่ลามไปยังอวัยวะอื่น หรือชาตลอดเวลาหลายวันติดๆ กันไม่หายให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาการชาลักษณะนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายอย่าง เส้นเลือดในสมองแตก โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการชารวมกับอาการดังต่อไปนี้ อาทิ กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างกะทันหัน, ปวดศีรษะรุนแรง, พูดจาติดขัดฟังไม่รู้เรื่อง ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

 

สาเหตุของอาการนิ้วชา
       ภาวะนิ้วชามักเกิดจากเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงมือหรือเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณจากสมองทำงานผิดปกติ หรือได้รับอุบัติเหตุจนเกิดการกระทบกระเทือน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งโรคต่างๆ อาทิ โรคการกดทับเส้นประสาทข้อมือ ที่มักจะชานิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้และนิ้วกลาง, ภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท, โรคข้ออักเสบ, โรคเบาหวาน, โรคเรย์นอด, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคไทรอยด์ , กลุ่มผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้งานมือและข้อมือที่หนักเกินไป กระดกข้อมือหรือง้อมือบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนที่บริเวณมือและข้อมือด้วย

 

อาการนิ้วชา
       1. มีอาการชาที่บริเวณปลายนิ้วหรือทั่วทั้งนิ้ว ไม่มีความรู้สึกใดๆ หรือรู้สึกเหน็บชาตลอด ไม่มีแรง สามารถมีอาการได้ทั้งแบบเป็นๆ หายๆ หรือเป็นตลอดเวลา
       2. มีอาการชาแล้วก็สามารถหายไปเองได้ แต่ในบางรายจะมีอาการชาเป็นอย่างมาในตอนกลางคืน
       3. เกิดอาการชามากขึ้นเมื่อใช้งานข้อมอหรือมือหนักๆ ซึ่งสามารถเกิดได้เฉพาะบางนิ้วหรือหลายๆ นิ้ว
       4. รู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มตำที่ปลายนิ้วหรือเจ็บแปลบๆ ปวดแสบปวดร้อน
       5. กดลงไปที่ฝ่ามือแล้วมีอาการเจ็บ

 

การรักษาอาการนิ้วชา
       แพทย์จะทำการซักถามอาการและระยะเวลาของการมีอาการนิ้วชา หากเป็นอาการชาที่อาจเกิดจากโรคเรื้อรังต่างๆ แพทย์จะทำการส่งต่อเพื่อตรวจเลือดอย่างละเอียด แต่หากเป็นการเกิดระบบประสาทจะต้องทำการเอกซเรย์และตรวจหาความผิดปกติอย่างเร่งด่วน ส่วนในกรณีที่เพิ่งเกิดอาการชาเพียงเล็กน้อย หรือในระยะแรกๆ คนไข้ควรหยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้มือ เพื่อพักให้มือได้ผ่อนคลาย แล้วลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายสะบัดมือ อย่านั่งทางเดิมนานๆ หากใส่เสื้อผ้าแน่นควรปลดคลายให้หลวมที่สุด อาการชาจะทุเลาลงได้ แต่หากพบว่ายังมีอาการมือชาบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ โดยเฉพาะพบว่าอาการชาลามไปที่อวัยวะอื่นๆ หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ เพราะอาจจะเป็นอาการชาที่เกิดจากโรคร้ายแรงต่างๆ ได้

       ซึ่งวิธีรักษาอาการนิ้วชาในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การใช้ยาแก้ปวด, ยาต้านการอักเสบ, การใส่เฝือก รวมทั้งในกรณีที่เป็นการชานิ้วที่เกิดจากการเส้นประสาทถูกกดทับหรือเสียหายจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

 

การป้องกันอาการนิ้วชา
       1. หากต้องนั่งทำงานในลักษณะที่มีการใช้มือและข้อมือตลอดเวลา อาทิ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์และใช้เม้าท์ ต้องนั่งในท่าทางที่ถูกสุขลักษณะตำแหนงมือต้องอยู่ในระดับความสูงที่เหมาะสม นั่งหลังตรง อย่าหง้อหลังหรือห่อไหล่
       2. ระหว่างที่ทำงานควรเว้นระยะเพื่อพักมือและร่างกายอย่างน้อยทุกๆ 30 นาที – 1 ชั่วโมง อย่านั่งท่าเดิมทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ควรลุกไปห้องน้ำหรือเปลี่ยนอิริยาถบบ่อยๆ
       3. หากจำเป็นต้องใช้งานข้อมือเป็นเวลานานๆ ควรหาอุปกรณ์เพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บ เช่น หมอนรองข้อมือระหว่างที่พิมพ์งาน
       4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารมือและข้อมือเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่น รวมทั้งได้ประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นๆ โดยการออกกำลังกายที่ช่วยในเรื่องของกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดีได้แก่ การเล่นโยคะ, พิลาทิส เป็นต้น
       5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามิน B12 อาทิ เนื้อไก่, นม, ธัญพืช, ขนมปัง, ไข่ เป็นต้น เพราะการขาดวิตามิน B12 จะทำให้มีอาการนิ้วชาได้เช่นกัน
       6. หากมีโรคประจำตัวควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

       อาการนิ้วชาจึงเป็นอีกหนึ่งอาการที่หลายคนอาจจะมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นอาการเพียงเล็กน้อย เพราะหลายๆ ครั้งการใช้งานข้อมือหนักก็ทำให้มีอาการนิ้วชาได้ แต่เมื่อพักสักระยะจะสามารถหายได้เอง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการชานิ้วเกิดขึ้นบ่อยๆ มีอาการชาลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ดังนั้นหากไม่อยากให้เกิดอาการนิ้วชาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเราจึงควรใช้งานมือและข้อมืออย่างเหมาะสม นั่งทำงานด้วยท่าทางที่ถูกสุขลักษณะ อย่านั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ รวมทั้งยังควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย