fbpx

8 พฤติกรรมเสี่ยง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นอีกโรคหนึ่งที่เราต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้เป็น เพราะโรคนี้เมื่อเป็นแล้ว จะทำให้คนที่เป็นมีความทรมานจากความเจ็บปวด บางคนถึงกับเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ มือชา ขาชา ทำให้ชีวิตประจำวันเสียไป แม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาได้แต่หากปล่อยให้เรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะอื่นที่คาดไม่ถึงได้ ดังนั้น ทางที่ดีจึงควรระมัดระวังป้องกันการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยการเลิกพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงกับการเกิดโรคนี้จะดีกว่า

8 พฤติกรรมเสี่ยง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของเราจะมีความเสื่อมไปตามวัย รวมถึงกระดูกสันหลังของเราที่มีลักษณะเป็นข้อต่อๆ กัน ตั้งแต่ส่วนใต้ศีรษะไล่เรื่อยลงไปจนถึงก้นกบ ความเสื่อมนี้ อาจมีผลทำให้เกิดการทรุดตัวของกระดูก กระทบไปถึงหมอนรองกระดูก การไปทับเส้นประสาทในบริเวณกระดูกสันหลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้แต่ไม่ถึงกับทับเส้นประสาท ก็ทำให้มีอาการปวดแล้ว ดังนั้น ทุกคนจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่นั่นอาจะเป็นเรื่องเลี่ยงได้โดยยาก ได้แต่เฝ้าระวัง แต่สำหรับบางพฤติกรรมของคนเราที่ทำซ้ำๆ ที่จะไปสร้างความเสี่ยงให้มากขึ้นตั้งแต่อายุยังไม่มากนั้น เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ ก็ไม่ควรไปเพิ่มความเสี่ยงเสียเอง พฤติกรรมเหล่านั้น ได้แก่

1. น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐานไปมากๆ ทำให้มีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เนื่องจาก เวลาที่น้ำหนักเกิดมากๆ ตัวอ้วนลงพุง พุงจะยื่นมาข้างหน้า ถ่วงน้ำหนักลง เวลาเดินจึงผิดท่า เพราะต้องคอยแอ่นกระดูกสันหลังเพื่อประคองพุงของตัวเอง ซึ่งเป็นท่าเดินที่ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ผิดปกติ จุดรับน้ำหนักผิดธรรมชาติ มีบางจุดที่ต้องรับมากกว่าปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่กระดูกบางส่วนจะเสื่อมเร็ว แตก ส่งผลกระทบถึงหมอนรองกระดูกที่ไปเบียดโดนเส้นประสาทจะมีมากยิ่งขึ้น

2. พฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็คือ คนที่ทำงาน หรือมีอุปนิสัยชอบยกของหนักเกิดตัว และยังมีการยกที่ผิดวิธี ซึ่งวิธีที่ถูกต้องนั้นจะต้องยกโดยใช้กำลังกล้ามเนื้อขา ไม่ใช่ให้หลังรับน้ำหนักของ วิธียกที่ถูกต้องคือ ถ้าของหนักวางที่พื้น ให้งอเข่าย่อตัวลง โดยให้กระดูกสันหลังตรงเหมือนเดิม สภาวะที่ปกติเช่นนี้ แรงกดที่กระจายไปบนหมอนรองกระดูกจะมีความสมดุล และการยกของท่านี้ จะใช้กล้ามเนื้อขาเป็นตัวรับน้ำหนักของ แต่ถ้ายกโดยการโก้งโค้ง เอามือยกของหนักขึ้นมา กระดูกสันหลังจะต้องรับน้ำหนักของนั้นไปเต็มๆ ซึ่งทำให้กระทบกับหมอนรองกระดูกไปด้วย ยิ่งถ้ากระดูกสันหลังมีการเคลื่อนหรือบิดจากตำแหน่ง จะมีโอกาสเบียดเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวด และหากใครมีพฤติกรรมเช่นนี้ซ้ำบ่อยๆ โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็จะมีมากขึ้นไปด้วย

3. คนที่สูบบุหรี่จัดเป็นประจำมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ข้อนี้ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่ก็เกี่ยวข้องอย่างมาก เนื่องจาก คนที่สูบบุหรี่จัดๆ นั้น ออกซิเจนจะไปเลี้ยงกระดูกสันหลังได้ไม่ดี เมื่อออกซิเจนน้อย กระดูกก็เสื่อมเร็ว ความเสื่อม การทรุดตัวของกระดูกข้อต่อสันหลังมีผลกระทบต่อเนื่องถึงหมอนรองกระดูกจะโดนเบียด การทำงานจะขาดความยืดหยุ่น เมื่อมีการใช้งานที่กระทบมาถึงหมอนรองกระดูกมากเข้าๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคได้

4. คนที่ไม่ชอบออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ออกกำลังกายถูกวิธีและทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะคนไม่ออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะไม่แข็งแรง การประคับประคองร่างกาย ความยืดหยุ่นของร่างกายจะน้อย เวลาทำอะไรสักอย่างที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อก็จะน้อยลง เมื่อฝืนทำก็อาจจะทำให้ต้องใช้แรงผิดที่ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น

5. อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ดังนั้นคนที่มีพฤติกรรม ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกระทบต่อกระดูกสันหลังโดยตรง หรือไม่โดยตรงก็ตาม หรือแม้แต่อุบัติเหตุบนท้องถนน ก็มีส่วนเสี่ยงทำให้เป็นโรคนี้มากกว่า คนที่ไม่มีกิจกรรมเสี่ยง

6. คนที่ขาดการดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ สุขภาพย่อมเสื่อมโทรมเร็วกว่าคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่า

7. คนที่มีพฤติกรรมการทำงานที่นั่งตลอดเวลา ไม่ค่อยได้เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือคนที่นั่งผิดท่าจนติดเป็นนิสัย นั่งหลังงอ นั่งก้มคอ หรือแม้แต่มีพฤติกรรมใช้กล้ามเนื้อคออย่างหนัก คนที่นอนผิดท่า หรือชอบนอนคว่ำอ่านหนังสือที่ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ผิดรูปร่าง ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน

8. คนที่มีพันธุกรรม คนในครอบครัวเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม คือมีธรรมชาติของกระดูกไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิม จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมากกว่าคนที่ไม่มีพันธุกรรมเรื่องนี้

หากไม่อยากเสี่ยงที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรระวังพฤติกรรมประจำวันของตัวเองให้ดี บางอย่างป้องกันได้ แม้เรื่องพันธุกรรมก็ยังสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้