fbpx

พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงนิ้วล็อก

พฤติกรรมแบบไหนเสี่ยงนิ้วล็อก


นิ้วล็อค คืออาการในลักษณะที่เมื่องอนิ้วแล้ว ไม่สามารถยืดออกมา หรือเหยียดให้ตรงได้ง่าย เกิดจากการที่ปลอกเอ็นที่นิ้วมือนั้นเกิดการอักเสบ และหนาตัวขึ้น ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อด้านในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ อาการนิ้วล็อคนี้ อาจจะเกิดขึ้นกับนิ้วใดนิ้วหนึ่ง หรือเกิดขึ้นกับหลาย ๆ นิ้ว ทั้งสองมือเลยก็ได้ และโดยมากนิ้วจะล็อกเมื่อมีการออกแรงทำการบางอย่าง และเมื่อเกิดนิ้วล็อคขึ้นมา จะมีอาการดังนี้
– มีเสียงดังเมื่อต้องยืด หรืองอนิ้ว
– มีอาการนิ้วแข็ง มีอาการตึงและนูนบริเวณโคนนิ้วที่ล็อค
– เมื่อยืดนิ้วกะทันหัน นิ้วจะล็อค และเมื่องอนิ้ว นิ้วก็จะล็อคและไม่สามารถเหยียดหรือยืดออกมาได้ง่าย ๆ

ทั้งนี้เมื่อเกิดอาการดังกล่าว คนไข้มักจะสามารถใช้มืออีกข้างยืดนิ้วออกมาเองได้ แต่หากอาการรุนแรง เกิดการปวด ฝืด ชา มีการอักเสบของข้อต่อนิ้ว ควรจะต้องพบแพทย์
ส่วนสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 2 อย่างคือ พฤติกรรม และโรคประจำตัว พฤติกรรมที่นับว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดนิ้วล็อค ได้แก่ การที่ต้องยกของหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการประกอบอาชีพที่ต้องใช้แรงมือ อย่างเช่น การตัดต้นไม้ พนักงานโรงงาน นักดนตรี และผู้ใช้แรงงานเป็นต้น ส่วนโรคประจำตัวที่อาจจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ้วล็อคมากขึ้น ได้แก่ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับเส้นประสาท

นอกจากนี้ สิ่งอื่นที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดนิวล็อค ได้แก่
– การใช้มือในท่าจับ หรือกำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และใช้มือในลักษณะนี้ต่อเนื่องยาวนานหลายปี ก็นับว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการพัฒนาของโรคนิ้วล็อค
– เพศ ก็มีความเกี่ยวข้อง โดยเพศหญิงถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าเพศชาย
– เกิดจากการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการประสาทมือชา หรือ Carpal tunnel syndrome surgery โดยอาการนิ้วล็อคนั้นเกิดหลังจากการผ่าตัด เรียกได้ว่าเป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัด โดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วง 1-6 เดือนหลังการผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องการการเกิดนิ้วล็อคได้ ดังนี้
– หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมือต่อเนื่องยาวนาน
– ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นโรคที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ้วล็อค เช่นโรครูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
– ป้องกันการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ไม่งอ หรือบิดข้อมือเป็นเวลานาน หากต้องทำงานที่ใช้มือเป็นเวลานานควรมีการพักเป็นระยะ