ปวดไหล่

         เพราะหัวไหล่เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ กิจวัตรประจำวันในชีวิตส่วนใหญ่มักจะมีหัวไหล่เป็นส่วนหนึ่งของการขยับร่างกาย จึงทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับหัวไหลจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทำงานหรือการขยับตัวจะทำได้ยากขึ้นและอาการปวดสามารถรุกลามและเรื้อรังได้หากไม่เร่งทำการรักษา ดังนั้นอาการปวดไหล่จึงไม่ใช่อาการที่ควรมองข้าม หากมีอาการในระยะเริ่มต้นควรพบแพทย์ทันที

 

ลักษณะของโรคปวดไหล่

         อาการปวดไหล่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในแบบชั่วคราวและเรื้อรัง หรือบางคนจะเป็นๆ หายๆ ปวดบางช่วงเวลาหรืออาจจะสามารถปวดตลอดเวลาก็ได้ โดยอาการปวดไหล่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย ในผู้ที่อายุยังน้อยหรือในช่วงวัยกลางคนมักจะปวดไหล่จากการใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่มากเกินไปหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไปจนทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด ส่วนในวัยผู้สูงอายุอาการปวดไหล่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกหัวไหล่ โดยอาการปวดไหล่ไม่ควรปล่อยไว้ให้เรื้อรังเพราะจะยิ่งทำการรักษาได้ยากขึ้น โดยผู้ที่มีอาการปวดไหล่มากกว่า 2 สัปดาห์ ควรต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะหากมีอาการปวดมามากกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไปจะกลายเป็นอาการเรื้อรังได้

 

สาเหตุของการปวดไหล่

         หนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อยของคนวัยทำงานในสมัยนี้คืออาการปวดไหล่ ไม่เพียงแต่คนอายุเยอะเท่านั้นที่สามารถมีอาการนี้ได้ โดยสาเหตุของการปวดไหล่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัยดังต่อไปนี้

  • การทำงานที่ใช้แรงแขนมากเกินไปหรือใช้ท่าทางที่ผิดในการยกของหนัก ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวไหล่ฉีกจนเกิดเกิดอาการปวด
  • นั่งทำงานในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานานๆ อาทิ การนั่งงอหลัง การนั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน รวมทั้งผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ ตลอดเวลา ก็สามารถทำให้มีอาการปวดไหล่ได้เช่นกัน
  • มีอาการปวดไหล่จากอาการเจ็บป่วยต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน วัณโรคปอด ไทรอยด์ ภาวะหัวใจขาดเลือด, มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกต้น เป็นต้น

อาการปวดไหล่

         อาการปวดไหล่มีได้หลายลักษณะไม่ว่าจะเป็นปวดเล็กน้อยเมื่อเคลื่อนไหว หรือปวดทันทีทันใดขณะเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ในบางรายปวดตลอดเวลาแม้ไม่ได้เคลื่อนไหว ซึ่งในหลายๆ กรณีอาการสามารถทุเลาลงได้ด้วยการพักผ่อนและการรับประทานยาแก้ปวด แต่ในกรณีที่มีอาการปวดไหล่เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ จะไม่สามารถหายเองได้ต้องพบแพทย์ นอกจากนี้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น เอ็นที่มีหินปูนเกาะ หรือเอ็นกล้ามเนื้อรอบไหล่บางมัดขาด ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้จะทำให้ยกแขนไม่ขึ้น จนคล้ายอาการอัมพาตหรือที่จะเรียกว่าอัมพาตเทียมเลยทีเดียว

 

การรักษาอาการปวดไหล่

         วิธีการรักษาอาการปวดไหล่ในระยะแรกหรือการปวดไหล่แบบเฉียบพลัน แพทย์จะรักษาด้วยการให้งดการใช้งานไหล่ข้างที่กำลังมีอาการ แล้วลดอาการปวดด้วยการทานยาแก้ปวด แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะให้ทำกายภาพบำบัดและใช้การประคบร้อนประคบเย็นซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างมาก แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดไหล่แบบเรื้อรัง แพทย์จะรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างน้อย 3-6 เดือน ร่วมกับการใช้ยา ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลงแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ดังนั้นเพื่อให้การรักษาไม่ยุ่งยากและมีโอกาสหายได้ คนไข้ต้องมารับการตรวจรักษากับแพทย์ตั้งมีอาการในระยะแรกๆ อย่าปล่อยให้อาการปวดไหล่ลุกลามเรื้อรัง

การป้องกันอาการปวดไหล่

         อาการปวดไหล่มักจะเกิดจากการใช้งานไหล่หนัก เคลื่อนไหวหรือยกของหนักผิดท่า หรือในบางคนนั่งหลังงอ นั่งไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานานๆ การสะสมทำให้เกิดอาการปวดไหล่ปวดหลังขึ้นได้ ดังนั้นการป้องกันอาการปวดไหล่เราควรสำรวจตัวเองว่านั่งผิดท่าหรือนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า หากเริ่มมีอาการปวดไหล่บ้างแล้วให้พักการใช้งานแขนและไหล่เพื่อคลายความตึงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังควรเปลี่ยนอิริยาบถเป็นประจำอย่านั่งท่าเดิมนานๆ ควงลุกยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อให้เส้นเอ็นต่างได้ยืดและคลายตัว รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบในการออกกำลังกายก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกกำลังกายอย่างถูกวิธี วอร์มร่างกายให้พร้อมทุกครั้งก่อนที่จะออกกำลังการและควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ แต่หากรู้สึกเจ็บที่ไหล่เล็กน้อยระหว่างออกกำลังกายให้หยุดการออกกำลังกายทันทีเพราะหากยิ่งฝืนจะทำให้อาการหนักขึ้น แต่สำหรับในกรณีที่อาการปวดไหล่เป็นผลพ่วงจากโรคอื่นๆ หรือมีอาการปวดไหล่แบบเรื้อรังมากกว่า 6 สัปดาห์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของโรค เพราะการรักษาจากต้นตอของโรคจะช่วยให้อาการปวดไหล่ทุเลาลงได้

         การปวดไหล่จึงเป็นอีกหนึ่งอาการใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนที่ใช้งานไหล่หนักเกินไปหรือใช้งานไหล่ในท่าทางที่ผิด ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถป้องกันอาการปวดไหล่ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่งการยืนให้ถูกสุขลักษณะ งดเว้นการใส่ร้องเท้าส้นสูงเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน อย่าสะพายกระเป๋าที่หนักจนเกินไป แต่หากพบว่ามีอาการปวดไหล่เรื้อรังให้รีบไปพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยให้เป็นนานๆ เพราะยิ่งทำให้รักษาได้ยากขึ้นและใช้ระยะเวลารักษานานขึ้นอีกด้วย