ปวดเอว

      อาการปวดเอว เป็นอีกหนึ่งอาการเจ็บปวดที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อมีอาการแล้วมักจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก โดยอาการปวดเอวมักจะเกิดตรงใต้ซี่โครงสามารถปวดได้ตั้งแต่ระดับมาก ปวดตื้อๆ หรือปวดแปลบเมื่อขยับ ซึ่งอาการปวดเอวเกิดได้ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันรวมทั้งยังเป็นหนึ่งในอาการของหลายๆ โรคอีกด้วย

 

ลักษณะของการปวดเอว


      ปวดเอวเป็นอาการที่พบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับไต, นิ่วในไต, ระบบทางเดินปัสสาวะ และอีกหลายๆ โรค ซึ่งอาการปวดเอวสามารถลามไปยังส่วนต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการปวดและลักษณะอาการที่พบ ผู้ที่มีอาการปวดเอวแบบเรื้อรังหรือปวดมาเป็นเวลานานมากกว่า 1 เดือน ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดเอวร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ มีไข้, ใจเต้นแรง, เบื่ออาหาร, ปวดลามไปที่ท้องน้อย, เวลาปัสสาวะมีเลือดปน, กล้ามเนื้อกระตุก ฯลฯ

อาการปวดเอว

      ผู้ที่ปวดเอวส่วนใหญ่มักจะปวดตุบๆ ที่บริเวณหลังด้านล่าง หรือรู้สึกปวดแปลบแบบไม่ทันตั้งตัว อาการมักจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้หลังในแต่ละวัน แต่หากเป็นการปวดที่มาจากโรคต่างๆ มักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหลายอย่างและจะมีอาการปวดเรื้อรังไม่หายเองได้ ซึ่งนอกจากโรคและอิริยาบถที่ผิดท่าเป็นประจำของตัวคนไข้เองจะทำให้มีอาการปวดเอวได้แล้ว ในกรณีผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมของกระดูกข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลังก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดเอวได้เช่นกัน

สาเหตุของการปวดเอว

      1. พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน เป็นต้น ซึ่งหากเราต้องทำอิริยาบถซ้ำๆ ระหว่างวันเป็นเวลานานยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ถูกต้อง อาทิ หากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ตลอดทั้งวัน ต้องนั่งหลังตรง ไหล่ไม่ห่อ หลังไม่งอ พิงพนักพิงเล็กน้อย และต้องปรับแป้นพิมพ์และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม หากนั่งหลังงอตลอดทั้งวันจะให้บุคลิกภาพไม่สมดุล จนทำให้มีอาการปวดเอวได้
      2. เกิดความเสื่อมของกระดูกและข้อซึ่งเป็นไปตามวัย ผู้สูงอายุจึงมักจะมีปัญหาปวดเอวได้บ่อยๆ
      3. น้ำหนักเกิน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะทำให้กระดูกสันหลังส่วนเอวรับน้ำหนักมากเกินไป
      4. มีอาการปวดเอวซึ่งเป็นผลพวงมาจากโรค ดังต่อไปนี้

    • กลุ่มของโรคไต ไม่ว่าจะเป็น กรวยไตอักเสบ, ฝีที่ไต, ภาวะไตขาดเลือด, เนื้องอกที่ไต
    • กลุ่มทางเดินปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็น นิ้วในไต, ทางเดินปัสสาวะตีบแคบ, กระเพาะปัสสาวะส่วนคออุดตัน

      นอกจากนี้อาการปวดเอวยังสามารถเกิดจากอีกหลายๆ โรคไม่ว่าจะเป็น โรคงูสวัด, วัณโรค, ปอดบวม, โรคภูมิแพ้ตัวเอง เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหากมีอาการปวดเอวแบบเรื้อรังติดต่อกันหลายสัปดาห์ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาการปวดเอวอาจจะเป็นเพียงหนึ่งในอาการของโรคร้ายแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
การรักษาอาการปวดเอว

      ผู้ป่วยที่ปวดเอวจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาเพื่อลดอาการปวดควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัด ออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมให้คนไข้ แต่หากเป็นการปวดหลังที่มาจากโรคต่างๆ แพทย์จะรักษาจากต้นตอของโรคนั้นๆ


การป้องการอาการปวดเอว

      1. ฝึกฝนกิริยาท่าทางในชีวิตประจำวันให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่านอน ท่าเดิน ท่ายืน เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่ประจำทุกวันหากมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ร่างกายจะค่อยๆ สะสมความบอบช้ำ จนกระทั้งเกิดอาการปวดเอว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ ควรทำให้ถูกหลังการและควรลุกขึ้นยืนเส้นยืนสายบ้าง เพราะการนั่งทำงานหรืออ่านหนังสือไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 1 ชั่วโมง
      2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือหากจำเป็นต้องยกอย่าง้อหลังหรือใช้แรงจากหลัง ให้พยายามย่อขาเพื่อยกสิ่งของขึ้นแทน
      3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมากกระดูกสันหลังจะยิ่งรับน้ำหนักมากและทำให้มีอาการปวดหลังได้ง่ายกว่าคนที่มีน้ำหนักตามมาตรฐาน
      4. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงให้กับร่างกาย ในผู้ที่มีอาการปวดเอวเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ การออกกำลังกายต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ อย่าฝืนที่จะออกกำลังกายทั้งๆ ที่ยังปวดเอวอยู่
      5. หากต้องขับรถเป็นเวลานานๆ ต้องปรับเบาะให้เหมาะสมและเมื่อนั่งแล้วหัวเข่าต้องอยู่สูงกว่าสะโพกเล็กน้อย ระหว่างขับรถไม่ควรขับติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรพักร่างกายเพื่อให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบ้าง
     6. ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือจำกัดปริมาณให้เหมาะสม

      อาการปวดเอว จึงเป็นสัญญาณของโรคร้ายหลายๆ โรค รวมทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมการใช้หลังส่วนล่างที่ไม่เหมาะสมอยู่ ดังนั้นหากมีอาการปวดเอวให้รีบปรับเปลี่ยนอิริยาถบตัวเองให้ถูกต้อง แต่หากอาการปวดไม่ทุเลาลงหรือปวดเรื้อรังมาเป็นเวลานานควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป