โรครองช้ำ

โรครองช้ำ เป็นอีกหนึ่งโรคที่ได้ยินชื่อกันบ่อยๆ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ความหมายที่แท้จริง สำหรับ โรครองช้ำ หรือทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ โดยโรคนี้จะทำให้รู้สึกปวดบริเวณส้นเท้าเป็นอย่างมาก เพราะเกิดจากเส้นเอ็นตรงฝ่าเท้าเกิดอาการอักเสบ ซึ่งอาการนี้เป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถพบได้ในทุกวัย แต่มักจะเป็นมากในวัยตั้งแต่ 40-60 ปี โดยเฉพาะในเพศหญิง แต่โรครองช้ำในระยะแรกหลายคนอาจเข้าใจคิดว่าเป็นอาการปวดระบมจากการใช้งานหนักธรรมดาจึงละเลยไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงที จนทำให้อาจเกิดเป็นอาการเรื้อรังและมีการรักษาที่ยุ่งยากมากขึ้น

ลักษณะของโรครองช้ำ

       โรครองช้ำเป็นอาการที่เส้นเอ็นฝ่าเท้าเกิดอาการอักเสบ โดยเส้นเอ็นฝ่าเท้าจะมีลักษณะบางๆ แผ่อยู่ตั้งแต่บริเวณส้นเท้าไปจนกระทั้งถึงปลายนิ้ว ทำหน้าที่เป็นตัวรองรับแรงกระแทกทุกครั้งที่เรายืน เดิน วิ่ง ทำให้หากใช้งานเท้าหนักเกินไปหรือใช้งานเท้าไม่เหมาะสมอาการอักเสบจึงเกิดขึ้นได้ง่าย แม้ว่าจะยังอายุไม่มากก็ตาม ซึ่งในผู้ที่เป็นโรครองช้ำนานๆ โดยไม่ได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนเมื่อเอ็กซเรย์อาจจะพบหินปูนงอกที่กระดูกส้นเท้าได้ด้วย ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดเป็นอย่างมากและต้องรักษาด้วยการผ่าตัด


สาเหตุของโรครองช้ำ

       ปัญหาโรครองช้ำสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยภายนอกอย่างการสวมใส่รองเท้า รวมทั้งปัจจัยของสภาพร่างกายอย่างเช่นความอ้วน โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ดังต่อไปนี้
– มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ทำให้ทุกครั้งที่มีการยืน การเดิน การวิ่ง น้ำหนักจะกดลงที่ฝ่าเท้ามากกว่าคนน้ำหนักตัวน้อย จนทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นได้
– เลือกใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม อาทิ รองเท้าส้นสูง รองเท้าที่หลวมเกินไป รองเท้าที่มีลักษณะเรียวแคบใส่แล้วบีบเท้า ใส่รองเท้าเล็กเกินไป เมื่อเท้าถูกบีบอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ถูกสุขลักษณะก็ทำให้เสียสมดุลในการลงน้ำหนักที่เท้าจนเกิดอาการอักเสบ
– ยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงแล้วยืนต่อเนื่องหลายชั่วโมงจะยิ่งทำให้ฝ่าเท้าเกิดการปวดและเกิดอาการอักเสบตามมา
– ผู้ที่มีลักษณะอุ้งเท้าที่ผิดรูป อาทิ อุ้มเท้าแบน, อุ้มเท้าโก่งตัว ซึ่งจะทำให้ฝ่าเท้าบางจุดรับน้ำหนักมากกว่าปกติ รวมทั้งผู้ที่มีลักษณะการเดินที่ผิดปกติ
– ผู้สูงอายุ โรครองช้ำสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในผู้สูงอายุ เพราะฝ่าเท้ามีการใช้งานมานานทำให้ปริมาณไขมันใต้ฝ่าเท้าลดลงและพังผืดที่ฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลงด้วย
– ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้อักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งมักจะเกิดปัญหาการอักเสบของเส้นเอ็นที่เชื่อมต่อกับกระดูกได้ง่าย ส่งผลให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้

อาการขอบโรครองช้ำ

– คนไข้จะรู้สึกเจ็บฝ่าเท้าตั้งแต่ตื่นแล้วหรือก้าวแรกของวัน แม้ว่าจะเพิ่งนอนหลับพักผ่อนมาก็ตาม ลักษณะอาการจะปวดจะลามไปทั่วทั้งเท้า
– มีอาการเจ็บมากขึ้นเมื่อเริ่มใช้งานเท้าหรือเดินลงน้ำหนัก อาการเจ็บจะปวดรุนแรงหรืออาจจะปวดจี๊ดๆ ในหลายๆ เคสอาการปวดจะรุนแรงแล้วเริ่มหายไปเองจนคนไข้นิ่งนอนใจ แต่ไม่นานก็จะกลับมาปวดซ้ำอีก
– หากปล่อยอาการปวดไว้นานโดยไม่ทำการรักษา แรกๆ อาจจะปวดเฉพาะตอนที่เดินเยอะหรือใช้งานเท้ามากๆ แต่หากปล่อยอาการทิ้งไว้จะมีอาการปวดมากขึ้นแม้ไม่ได้ใช้งานหรืออาจปวดได้ตลอดเวลา

การรักษาโรครองช้ำ

       เมื่อเกิดอาการโรครองช้ำในระยะแรกแล้วรีบพักการใช้งานของเท้าซึ่งอาจจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่ไม่นานเมื่อกลับไปเดินอีกครั้งอาการก็จะกำเริบขึ้นมาและมักจะอาการหนักขึ้น ดังนั้นหากพบสัญญาณของโรครองช้ำให้พบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกเพื่อการรักษาที่ง่ายขึ้น โดยมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้
– ลดการใช้เท้า พักการเดินหรือหากจำเป็นต้องเดินต้องใช้ไม้เท้าพยุงช่วยไม่ให้ลงน้ำหนักที่เท้า ซึ่งหากอาการปวดยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะจ่ายยาลดอาการอักเสบและให้ประคบร้อนวันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการปวด
– ออกกำลังกายด้วยท่าบริหารเอ็นร้อยหวาย ฝ่าเท้า ข้อเท้า ซึ่งแพทย์จะแนะนำท่าบริหารที่คุณสามารถทำเองได้ที่บ้าน เพราะการทำท่าบริหารที่ถูกต้องจะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรครองช้ำได้เป็นอย่างดี
– ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาลดการอักเสบ ซึ่งหากยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดเอาพังผืดบางส่วนออก

การป้องกันโรครองช้ำ

1. หากเริ่มรู้สึกปวดให้รีบพักการใช้งานเท้าและบรรเทาอาการด้วยการประคบเย็น หากจำเป็นต้องเดินให้ใช้ไม้เท้าช่วยพยุงอย่าลงน้ำหนักที่เท้าทั้งหมด
2. เลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับเท้าไม่เล็กหรือบีบเท้าจนเกินไป หากต้องยืนนานๆ ให้หลีกเลี่ยงการใส่ส้นสูง หรือหากเริ่มมีอาการของโรครองช้ำแล้วให้หาซื้อแผ่นรองเท้าที่มีลักษณะอ่อนนุ่มมารอง เพื่อลดแรงกดที่เกิดขึ้นบนฝ่าเท้า
3. หากจำเป็นต้องวิ่งหรือเดินเป็นเวลานาน ควรหยุดพักเป็นระยะเพื่อพักการใช้งานเท้า
4. ออกกำลังกายบริหารฝ่าเท้าด้วยท่าทางที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการโรครองช้ำได้เป็นอย่างดีรวมทั้งได้เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายในด้านอื่นๆ ด้วย

ใครที่มีอาการของโรครองช้ำอย่าได้นิ่งนอนใจและควรไปพบแพทย์ตั้งแต่อาการแรกเริ่ม เพราะโดยปกติแล้วหากอาการไม่หนักมากจะสามารถรักษาหายได้ภายใน 2 เดือน แต่หากปล่อยอาการไว้ไม่ไปพบแพทย์ตั้งแต่ต้นอาจทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น จนกระทั้งปวดตลอดเวลาแม้ไม่ได้เดินซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น