หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
     เป็นโรคที่เราคุ้นหูและได้ยินกันอยู่ๆ บ่อย สำหรับ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ที่หลายอาจจะยังไม่คาดคิดว่าโรคนี้ใกล้ตัวคุณกว่าที่คิด เพราะเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยด้วยสาเหตุที่หลากหลาย โดยเฉพาะการยกของหนัก การทำพฤติกรรมซ้ำๆ เดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานรวมทั้งผู้ที่มีภาวะอ้วนก็มักจะมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีส่วนสำคัญและเป็นสาเหตุของโรคนี้เป็นอย่างมาก

ลักษณะของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
     บริเวณกระดูกสันหลังของมนุษย์ประกอบไปด้วยกระดูกหลายชิ้นต่อกันเป็นแนวเส้นตรง โดยระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นจะมีหมอนรองกระดูกและข้อต่อกระดูกสันหลังเป็นตัวเชื่อม ซึ่งปกติแล้วกระดูกจะทำหน้าที่ปกป้องไขสันหลัง และมีหมอนรองกระดูกเป็นตัวยึดติดและทำให้กระดูกยืดหยุ่นและรับแรงกระแทกต่างๆ จากการเคลื่อนไหวของเรา เมื่อมีการใช้งานหนักหรืออายุที่เพิ่มขึ้น ความสูงของหมอนรองกระดูกจะลดลง จนทำให้มีการฉีกขาดและหลุดออกมาภายนอก ส่วนหมอนรองกระดูกที่หลุดมานี้เองที่ทำให้เกิดการกดทับที่เส้นประสาทที่ไขสันหลัง อาการปวดและชาจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
     ปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดขึ้นได้หลายปัจจัยทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความเสื่อมไปตามวัย ซึ่งแบ่งสาเหตุได้ดังต่อไปนี้
         1. เมื่ออายุมาขึ้นหมอนรองกระดูกที่เคยแน่นก็จะเหี่ยวลงไปตามวัย ทำให้กระดูกสันหลังหลวม หมอนรองกระดูกจึงปริออกมาทับเส้นประสาทได้
         2. พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ติดต่อกัน โดยเฉพาะผู้ที่นั่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อาทิ นั่งหลังงอ, นั่งไข้ห้าง, นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น
         3. ยกของหนัก เดิน นั่ง ยืน ในท่าที่ผิดสุขลักษณะ โดยเฉพาะการยกของหนักแล้วหลังงอ มีผลต่อกระดูกสันหลังเป็นอย่างมาก เพราะมักจะทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนได้
         4. การเล่นกีฬาผิดท่าหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา
         5. สิ่งแวดล้อมรอบตัวทำให้มีอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การนอนที่นอนฟูกนิ่มเกินไป, การก้มหลังบ่อยๆ , การนั่งหลังค่อมเป็นเวลานานๆ
         6. ประสบอุบัติเหตุหรือมีการกระแทกแรงๆ
         7. นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด อาทิ กระดูกสันหลังคด, โครงสร้างกระดูกสันหลังผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด


อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

     อาการโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะแบ่งได้ 2 จุดใหญ่ หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับคอจะทำให้มีอาการปวดที่ต้นคอและปวดร้าวลงมาที่ไหล่ จนทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและชา นอกจากนี้ยังมีอาการสั่นเวลาเดินอีกด้วย แต่สำหรับอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทระดับเอวจะทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดสะโพกลามลงไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อไอหรือจามและยังมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณขาและเท้า โดยเฉพาะบริเวณง่ามนิ้วหัวแม่เท้ามักจะมีอาการชาอยู่ตลอด ไม่สามารถเดินระยะไกลได้เพราะจะมีอาการปวดชาที่ขา รวมทั้งยังมีปัญหาในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ซึ่งหากเป็นมากจนรบกวนระบบการขับถ่ายจะต้องเร่งทำการผ่าตัดเพราะหากปล่อยไว้นานอาจจะไม่สามารถฟื้นระบบขับถ่ายกลับมาให้เป็นปกติได้

 

วิธีการรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
     หากตรวจพบว่ามีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในยะระแรกๆ แพทย์จะให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องเหมาะสม คนไข้ต้องพักผ่อนและรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใส่เสื้อช่วยพยุง แต่หายอาการยังไม่ดีขึ้นต้องทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติม แต่หากเป็นมากๆ แล้ว จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำส่วนของหมอนรองกระดูกที่ทับเส้นประสาทออก หรืออาจนำหมอนรองกระดูกที่เสื่อมสภาพออกให้หมดแล้วใส่หมอนรองกระดูกเทียม


การป้องกันอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

     เพราะอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรฝึกฝนการนั่ง การเดิน การยืน ให้ถูกสุขลักษณะ อย่านั่งหลังงอ อย่านั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ควรลุกเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หากจำเป็นต้องยกของหนังห้ามงอหลังเป็นอันขาด ต้องงย่อขาเพื่อช่วยลดความตึงของกระดูกสันหลัง นอกจากนี้ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เพราะความอ้วนเป็นอีกหนึ่งสาเหคุทำให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ง่าย ในกรณีที่เริ่มมีอาการแล้วควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะจะช่วยรักษาได้ง่ายขึ้น เพราะหากสะสมอาการไว้จะยิ่งทำให้รักษาได้ยากขึ้นและอาจจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดเลยทีเดียว

     หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จึงเป็นอีกโรคที่เกิดขึ้นได้แม้จะยังอายุไม่มาก เพราะด้วยพฤติกรรมในแต่ละวันที่เราทำอยู่อาจเป็นต้นตอความเสียหายของหมอนรองกระดูกที่อยู่ภายในกระดูกสันหลังได้ ดังนั้นหากไม่อยากเร่งให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็วขึ้นไปอีก ควรนั่ง ยืน เดิน นอน ให้ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันควรปรับระดับความสูงของโต๊ะให้ถูกต้อง อย่านั่งหลังงอทำงานเป็นอันขาด รวมทั้งต้องลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถเป็นประจำด้วย เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายอยู่เสมอด้วย