มือชา

         แม้ว่าจะเป็นเหมือนอาการเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เจ็บปวดอะไรมากมาย แต่อาการมือชาอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่กำลังก่อตัวขึ้นอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้นหากพบอาการ มือชา ปลายมือชา เหน็บชา บ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งอาการมือชาอาจเป็นอาการหนึ่งของการกดทับของเส้นประสาทในบริเวณต่างๆ ได้ ซึ่งหากตรวจรักษาและรู้ต้นตอของโรคตั้งแต่ต้นอาจจะทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากนัก แต่หากปล่อยไว้อาจจะสายเกินไปจนเกิดความสูญเสียได้ ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่ออาการหนักแล้ว

ลักษณะอาการมือชา


          มือชา มักจะพบได้บ่อยในวัยกลางคน โดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่งมักจะเกิดจากการใช้งานข้อมือหนักๆ ซ้ำ เป็นเวลานาน และยังเกิดจากโรคเรื้อรังได้อีกหลายโรค ซึ่งลักษณะการชาสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ในหลายๆ คนคนไข้อาการดีขึ้นได้เองเมื่อหยุดการใช้งานมือจึงทำให้คนไข้ไม่ค่อยไปเข้ารับการรักษา แต่ในผู้ที่ชาตลอดเวลา หรืออยู่ๆ ก็มีอาการชาเกิดขึ้นระหว่างบ่อยๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมือชา


        สาเหตุที่ทำให้มือชามักเกิดจา 2 สาเหตุใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
1. การใช้งานข้อมือที่หนักเกินไป ด้วยการงอมือหรือการกระดกมือมากๆ เป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้เยื่อพังผืดไปกดรัดเส้นประสาทจนทำให้เกิดอาการชา อาทิ แม่บ้าน แม่ครัว ที่ใช้แรงมือตลอดทั้งวัน รวมทั้งผู้ที่จับเม้าท์ทำงานทั้งวันด้วย
2. เป็นผลพ่วงจากโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคไทรอยด์, โรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะน้ำตาลสูง, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเก๊าท์, โรคข้ออักเสบ, โรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุข้อมือหักหรือแตกก็ยังสามารถเกิดอาการชาได้อีกด้วย

 

อาการมือชา


          อาการชาที่มือจะมีได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
1. ชาที่ปลายมือและปลายเท้า หากเกิดอาการเช่นนี้มักจะเกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารจำพวก วิตามินบี 1, 6, 12 รวมทั้งยังอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคบางชนิด อาทิ โรคไต, โรคมะเร็ง ฯลฯ
2. อาการชามือเป็นส่วนๆ แต่ไม่ได้ชาที่เท้าด้วย โดยแบ่งได้ดังต่อไปนี้
– ชาปลายมือทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อยที่ชาน้อยหรือไม่ชาเลย ลักษณะแบบนี้เกิดจากการใช้งานมือและข้อมือด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือใช้งานหนักเกินไปจนทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ
– ชาที่นิ้วนาง นิ้วก้อย และบริเวณขอบของมือ แต่ไม่ชาเลยเกินข้อมือไป เป็นอาการที่เส้นประสาทถูกกดทับบริเวณข้อศอก ซึ่งเกิดจากการใช้งานมือและข้อมือที่ผิดท่าหรือใช้งานหนักไปเช่นกัน แต่หากรู้สึกชาเลยบริเวณข้อมือขึ้นไปควรไปพบแพทย์ทันที
– ชาบริเวณหลังมือ แต่ไม่เกินข้อมือ ลักษณะอาการเหล่านี้มักเกิดการเส้นประสาทบริเวณต้นแขนถูกกดทับ
– ชาตั้งแต่แขนไล่ลงไปถึงนิ้วมือ อาการลักษณะนี้เป็นอาการที่ค่อนข้างรุนแรงเพราะมักจะเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมหรือกดทับเส้นประสาท ควรรีบปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ยังมีอาการชาเฉพาะที่บริเวณปลายนิ้วมือ, ชาเฉพาะบางนิ้ว, ชาเพียงนิ้วนางครึ่งนิ้ว และยังสามารถมีอาการชาเฉพาะกลางคือ, ชาตอนที่ทำงานหนักๆ , ชามากในตอนนอนกลางคืน, ชาในบางครั้งแล้วสามารถหายเองได้ หรือในบางรายอาจรู้สึกเจ็บที่บริเวณฝ่ามือได้อีกด้วย

 

วิธีการรักษาอาการมือชา


          การรักษาอาการชาที่มือสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้มือและข้อมือในท่าทางที่ผิด ในกรณีที่มีอาการมากๆ แล้ว ควรงดการใช้มือหรือแขนระหว่างที่มีอาการอยู่ ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นจะมีทางเลือกในการรักษาอาทิ การใส่เครื่องพยุงข้อมือ, การใช้ยา โดยในกรณีที่ใช้ยามามากกว่า 1 ปี แล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดสเตียรอยด์ ซึ่งมักจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่หายขาด และในกรณีที่การรักษาด้วยยาและการฉีดสเตียรอยด์ไม่ได้ผล หรือมีอาการหนักขึ้นสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งแบบการผ่าตัดทั่วไปและการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง



การป้องกันอาการมือชา

          การป้องกันอาการมือชาเราสามารถทำได้เองด้วยการสังเกตพฤติกรรมระหว่างวันของตัวเองว่าใช้งานข้อมือหนักหรือกำลังทำผิดท่าอยู่หรือเปล่า ปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานของมือและข้อมือให้เหมาะสม ปรับความสูงต่ำของโต๊ะทำงานให้ดี เมื่อต้องใช้มือทำงานจับเม้าท์หรืออื่นๆ ข้อมือต้องไม่งอมากเกินไป หากต้องใช้เม้าท์หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วใช้มือทำงานอยู่ตลอด ต้องหาอุปกรณ์ช่วยประคองข้อมือ รวมทั้งไม่ใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรเว้นระยะเพื่อพักข้อมือบ้าง

          อาการมือชา จึงเป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสังคมยุคนี้ที่ใช้งานข้อมือหนักตลอดเวลาโดยเฉพาะคนวัยทำงาน อาการชามือในระยะแรกมักจะเป็นแล้วหายได้เองเมื่อพักการใช้งานมือจึงทำให้หลายคนไม่ใส่ใจในอาการที่เกิดขึ้น ปล่อยปละละเลยจนทำให้อาการรุกลามรักษาได้ยาก ดังนั้นหากมีอาการมือชาเกิดขึ้นบ่อยควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุที่แท้จริง การรักษายิ่งเร็วยิ่งมีโอกาสหายได้ง่าย